เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ บ้านธรรมปกรณ์ (เชียงใหม่) มอบถุงกำลังใจ อาหาร และเยี่ยมให้กำลังใจผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ ร่วมชมการออกกำลังกายประกอบเพลง การใช้นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. คณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. คณะผู้บริหารกระทรวง พม. และทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมลงพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ส่งน้อง ๆ มาฝึกงานที่ศูนย์ฯ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านกายภาพ พม.เราได้มีโอกาสเห็นผู้สูงอายุในหลายๆกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไปจนถึงผู้สูงอายุประมาณ 70 กลางๆ ที่มีกิจกรรม มีความสนุกสนาน และยังเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ แอคทีฟ ติดสังคม นับว่าเป็นสิ่งที่น่าดีใจ ซึ่งต้องเรียนว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่กระทรวง พม. เดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำปางในครั้งนี้ เพราะว่าสถานการณ์ของผู้สูงอายุในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุดในประเทศไทย คิดเป็น 30% และจังหวัดเชียงใหม่มีสัดส่วนรองๆ ลงมา เมื่อเวลาผ่านไปจากนี้อีกไม่ถึง 10 ปี จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นในทุกปีๆ ละไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไปถึงปีที่ 7 และปีที่ 8 จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณล้านกว่าคน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวง พม. จะต้องจัดหาสถานที่ที่จะรองรับและดูแลพี่น้องกลุ่มผู้สูงอายุในหลายๆลักษณะไม่ว่าจะเป็น ลักษณะที่พอดูแลตัวเองได้เป็นกลุ่มที่ติดสังคม หรือกลุ่มที่ติดบ้าน หรือท้ายที่สุดเป็นกลุ่มที่ติดเตียง
นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานอย่างเช่นวันนี้ กระทรวง พม. ได้รับความร่วมมือจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแค่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ว่าในหลายๆ พื้นที่ที่กระทรวง พม. ดูแลนั้น การทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนและการได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะว่าการที่เป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบนั้น ทำให้เราต้องใช้ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็น งบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่ต้องเรียนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยและสังคมไทยจะต้องเตรียมตัวในการเพิ่มขึ้นของพี่น้องผู้สูงอายุจำนวนมหาศาล ซึ่งคนเราทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน เด็กหรือผู้ใหญ่ ท้ายที่สุดเราจะเป็นผู้สูงอายุกันทั้งนั้น
ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุรวมไปถึงการเตรียมตัวที่จะเป็นผู้สูงอายุนั้นไม่เคยสายเกินไป บางครั้งอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะต้องเตรียมตัวตั้งแต่เป็นวัยรุ่น วัยทำงาน เพราะว่าจะต้องคิดถึงสภาวะทางการเงินและกิจกรรมต่างๆยามบั้นปลายของชีวิตด้วยเช่นกัน “ขอเน้นย้ำว่าหัวใจสำคัญคือ กระทรวง พม. ต้องการให้ผู้สูงอายุมีความกระฉับกระเฉง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Active ageing มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราอยากจะให้ผู้สูงอายุอยู่ในสถานะเป็นผู้ติดสังคมให้มากที่สุดและให้นานที่สุด อีกทั้งทำให้ช่วงระยะเวลาของการติดบ้านและติดเตียงเป็นช่วงเวลาที่สั้นที่สุด เมื่อทำอย่างนี้ได้ ตนคิดว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งงบประมาณจะน้อยลงไปได้"#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #เชียงใหม่ #ผู้สูงอายุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น