เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันรำลึกมิสคอลฟีลด์ ประจำปี 2567 พร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “85 ปี การศึกษาคนตาบอดไทย รากฐานที่ยิ่งใหญ่ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” พร้อมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนจากทุกภาคของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ โดยมี นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายคนิตย์ ผามะณี ประธานกองทุนอาจารย์เจเนวีฟคอลฟีลด์เพื่อการศึกษาและเสริมสร้างคุณค่าสังคมไทย กล่าวต้อนรับ และกล่าวรายงาน
นายวราวุธ กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ตนดีใจมาก ที่ได้เห็นศักยภาพของคนพิการในแต่ละสาขา วงแรกที่ได้เห็นคือวงของผู้สูงอายุ ทำให้พี่น้องผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมและฝึกประสาทสัมผัส วันนี้ประเทศไทยกำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ แปลว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นทุกปี และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นอนาคตของประเทศ ไม่ว่าเพศใด สถานะใด เราต้องดูแลให้ดี ต้องขอขอบคุณทางมูลนิธิฯ ที่ได้ช่วยเสริมศักยภาพของลูกหลานอนาคตของประเทศไทย ที่ถึงแม้ตาบอดแต่ใจไม่ได้บอด และมีจิตใจยังคงงดงาม
สังคมไทยของเราวันนี้ต้องการพลังของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสถานะใด จะเป็นปกติ หรือจะพิการทางสายตา พิการทางการได้ยิน หรือทางกายภาพ ทุกคนล้วนแต่มีศักยภาพซ่อนอยู่ ตนได้เห็นถึงศักยภาพ ความสามารถต่างๆ ที่คนปกติยังไม่สามารถทำได้ กระทรวง พม. เราเป็นหนึ่งในไม่กี่กระทรวงที่มีการจ้างคนพิการตามกฏหมายในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 แต่ที่สำคัญไม่ต้องการให้คนพิการได้รับการจ้างงานเพราะความพิการ แต่อยากให้ได้รับการจ้างงานเพราะความสามารถ เพราะว่าคนพิการมีความสามารถมากมาย อย่างเช่นที่คนตาบอดนั้นมีทักษะในการฟังดีกว่าคนทั่วไป ดังนั้นคนพิการมีสิทธิที่ควรจะต้องอยู่ในสังคมไทยได้อย่างอิสระ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่ากัน นี่คือหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะต้องทำอย่างไรให้สังคมนี้มีอารยสถาปัตย์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำอย่างไรให้คนพิการไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนพิการ หรือถ้ามองกลับกัน สังคมเรากำลังพิการอยู่เพราะเราทำให้พี่น้องคนพิการไม่สามารถมีอิสระในการใช้ชีวิต การทำงานคงจะไม่สามารถใช้พลังของกระทรวง พม. ได้เพียงฝ่ายเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือของกระทรวงต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
นายวราวุธ กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองกระทรวง พม.ว่าเป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์ ไปทำอะไรที่ไหนก็บอกว่าได้บุญ แต่สิ่งที่ตนได้เรียนรู้อย่างหนึ่งนั่นคือสิ่งที่คนพิการเกลียดที่สุดคือการบอกว่าทำแบบนี้เราได้บุญ คนพิการไม่ต้องการบุญ แต่คนพิการต้องการโอกาส และต้องการสิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่างๆเหมือนกับคนทั่วไป ซึ่งตั้งแต่ตนเข้ามาทำงาน ได้มาปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวง พม. จากกระทรวงสังคมสงเคราะห์เป็นกระทรวงที่จะเอาความสามารถผลักดันให้คนพิการ คนทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้สูงอายุ มีศักยภาพที่เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากคนพิการจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมาก ที่ยังมีศักยภาพในการทำงาน ดังนั้นบริบทการทำงานของกระทรวง พม. ในวันนี้จะเป็นกระทรวงหนึ่งที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เสริมศักยภาพให้กับคนพิการไม่ว่าจะเป็นพิการในรูปแบบใด และการทำงานในปีนี้เรายังทำงานกันอย่างหนักหน่วงกันต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทำงานเหล่านี้จะได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะจากมูลนิธิฯ ซึ่งจะทำให้การทำงานของกระทรวง พม. ส่งผลให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพและใช้ศักยภาพเหล่านั้นทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง
นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดทำโครงการพัฒนาเพิ่มขึ้นจากการทำกับบทบรรยายของภาพยนตร์จากฮอลลีวูดโดยใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งการพัฒนาโครงการดังกล่าว ในอนาคตจะทำให้คนตาบอดทุกคนสามารถดูภาพยนตร์ในโรงภาพยนต์ และฟังภาพยนตร์ได้เหมือนกันทุกคนโดยใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งกระทรวง พม. หวังว่าการใช้งบประมาณในทุกโครงการไปนั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศไทยดีขึ้น ซึ่ง กระทรวง พม. พร้อมที่จะสานต่อเจตนารมย์ของอาจารย์เจเนวีฟคอลฟีลด์ ที่ได้เน้นย้ำไว้ว่าคนตาบอดจะต้องรวมกันเพื่อทำงานให้กับคนตาบอดที่รอโอกาสและสร้างเจตคติให้สังคมรับรู้ถึงศักยภาพของคนตาบอด และขอขอบคุณภาคเอกชนทุกฝ่าย ที่ช่วยกันผลักดันให้คนพิการได้มีโอกาสได้และมีความหวัง สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะนำพาประเทศไทยไปข้างหน้า#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #คนตาบอด #รำลึกมิสคอลฟีลด์2567
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น