สรพ.ร่วมกับ HACC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ชวน รพ.เครือข่าย สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย - MSK News

Breaking

  

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

demo-image

สรพ.ร่วมกับ HACC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ชวน รพ.เครือข่าย สร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัย

add
DSC08742_0_0

HACC รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ จัดมหกรรมคุณภาพ ชวนโรงพยาบาลเครือข่ายใน 4 จังหวัดภาคเหนือ สร้างวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ด้านผู้อำนวยการ สรพ. ชี้เมื่อมี Growth Mindset แล้วต้องต่อยอดรวมตัวกันทำสิ่งดีๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมร่วมและพัฒนาเป็นวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยในที่สุด

DSC08802_0_0

ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (HACC:CRH) จัดงานมหกรรมคุณภาพ ภายใต้หัวข้อ "สร้างวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน" (Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability) ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย. 2567 โดยมีผู้แทนโรงพยาบาลในเครือข่าย HACC:CRH จาก จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน เข้าร่วมประชุมทั้งแบบ Onsite และ Online
DSC08757_0_0

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability โดยระบุถึงเหตุผลที่เลือกประเด็นดังกล่าวมาขับเคลื่อนในปีนี้ว่า ในแต่ละปี สรพ. จะมีประเด็นใหม่ๆ มาชวนโรงพยาบาลขับเคลื่อน โดยธีมในปีที่ผ่านมาคือเรื่อง Growth Mindset for Batter Healthcare System ซึ่งเป็นการชวนให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความหมายของตัวเอง ชวนให้เกิด Growth Mindset ว่าเราทุกคนทำได้ และทำได้ดีกว่าเดิมในทุกๆวัน อย่างไรก็ดี แม้แต่ละคนจะมี Growth Mindset แล้ว แต่ยังเป็นเรื่องส่วนบุคคลล ต่างคนต่างทำ แต่หากทุกคนมี Growth Mindset พร้อมๆ กันในเรื่องที่ดี น่าจะเกิดเป็นวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยและนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น แนวคิดของปีนี้จึงเป็นเรื่อง Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability นั่นเอง

DSC08717_0_0

พญ.ปิยวรรณ กล่าวขยายความถึงคีย์เวิร์ดสำคัญ เริ่มจากคำว่าคุณภาพ หรือ Quality ในระบบสุขภาพ องค์การอนามัยโลก ให้นิยามคำว่า ระดับของบริการสุขภาพสำหรับบุคคลและประชากรที่จะเพิ่มความเป็นไปได้ของผลลัพธ์สุขภาพที่พึงประสงค์ และสอดคล้องกับความรู้ของวิชาชีพซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ขณะที่ความหมายของคุณภาพระดับสูง หรือ High Quality ของบริการสุขภาพ คือ การดูแลที่ถูกต้อง ทันเวลา และตอบสนองต่อความต้องการทางสุขภาพและความพึงพอใจของผู้ป่วย โดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายให้น้อยที่สุดและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งมิติที่สำคัญของคุณภาพในระบบสุขภาพ คือ ในแง่ความปลอดภัย หรือ Safety ต้องมีการออกแบบระบบที่รับประกันได้ว่า กระบวนการดูแลจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ลดข้อผิดพลาด และไม่ทำให้เกิดอันตรายใหม่ในอนาคต ในแง่ประสิทธิผล ต้องมีการดูแลบนพื้นฐานขององค์ความรู้เพื่อทำให้เกิด Best Outcome มีการเรียนรู้อัพเดทการดูแลคนไข้ที่ทำให้เกิดประสิทธิผล 

DSC08665_0_0

ขณะที่ในแง่การยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ต้องให้การดูแลด้วยความรักและเคารพในความแตกต่างของแต่ละคน และตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัว ความจำเป็น และคุณค่าของผู้ป่วย เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมตัดสินใจในในกระบวนการรักษา ส่วนในแง่ของเวลา ต้องออกแบบกระบวนการเพื่อลดความซับซ้อน ไม่ให้เกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ในแง่ของประสิทธิภาพ คือการส่งมอบบริการโดยใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในแง่ความเสมอภาค ต้องรับประกันได้ว่าบริการที่ส่งมอบแก่ผู้ป่วยนั้นมีความเท่าเทียม ไม่เกิดความแตกต่างกัน

DSC08675_0_0

ทั้งนี้ ทิศทางที่ สรพ. พยายามชวนให้โรงพยาบาลทำคือการส่งมอบบริการที่มีคุณภาพแก่ทุกคนทุกที่ โดยการออกแบบระบบที่แตะไปถึงผลลัพธ์บริการ ตั้งแต่ในโรงพยาบาล ไปถึงระบบบริการสุขภาพ ไปจนถึงระบบสุขภาพที่แตะไปถึงปัจจัยกำหนดสุขภาพในชุมชน สังคมในแต่ละพื้นที่ นำไปสู่ 3P Safety

พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า คีย์เวิร์ดต่อมาคือคำว่าความปลอดภัย หรือ Safety ในระบบสุขภาพ ซึ่งไม่เพียงเป็นเรื่องสำคัญแต่ถือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เมื่อมานอนโรงพยาบาลแล้วต้องมีความปลอดภัย โดยในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการตาม Global Agenda มีการพัฒนามาเป็นเป็นนโยบาย 2P Safety และต่อยอดมาเป็น 3P Safety ในปัจจุบัน โดยในส่วนของผู้ป่วย (Patient) คือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระบวนการดูแลรักษา ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากรสาธารณสุข (Personnel) คือการป้องกันอันตรายที่เกิดจากกระบวนการทำงาน และในส่วนของประชาชน (People) คือการหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากระบบสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้มีการกำหนดเป้าหมายความปลอดภัยและบูรณาการเข้าไปในกระบวนการรับรองคุณภาพของ สรพ.

DSC08661_0_0

สำหรับคีย์เวิร์ดสุดท้ายคือ การสร้าง Quality and Safety Culture ในระบบสุขภาพอย่างยั่งยืน พญ.ปิยวรรณ มองว่า การสร้าง Quality ต้องอาศัยการบริหารจัดการ อาศัยความพยายามและความร่วมมือจากผู้คนที่หลากหลาย เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 1. Quality Planning 2. Quality Control 3. Quality Assurance และ 4. Quality Improvement ซึ่งส่วนมากโรงพยาบาลในไทยทำ 2 อย่าง คือ Quality Planning แล้วข้ามไป Quality Improvement เลย จึงไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ดังนั้นในการทำ Quality Management ต้องรู้โจทย์ก่อนว่าจะทำเรื่องอะไรกับกลุ่มเป้าหมาย มีการตั้งเป้าหมายของงาน แล้วออกแบบกระบวนการ ซึ่งก็คือ Quality Planning โดยต้องชัดเจนว่าใครทำอะไรกับใคร ทำแค่ไหน จะควบคุมกำกับอย่างไร และจะวัดผลอะไร หากขาดเรื่องเหล่านี้จะทำให้ไม่สามารถ Action หรือทำ Quality Control ได้เต็มที่

DSC08734_0_0

ทั้งนี้ เมื่อมีการ Action และมีการวางแผนแล้วว่าจะวัดผลอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงจะนำมาสู่กระบวนการเรียนรู้ หรือ Quality Assurance และเมื่อเห็นผลลัพธ์แล้วจึงจะรู้ว่าจะต้องทำ Quality Improvement ในเรื่องอะไร อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนการทำ Quality Management เพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น การออกแบบระบบจะต้องคำนึงเพิ่มเติมถึงความท้าทาย ผลกระทบ ความเสี่ยงและคาดการณ์เตรียมพร้อมในการออกแบบระบบบริการ ขณะที่ในขั้นตอนการปฏิบัติงานก็ต้องพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์และคำนึงถึงผลกระทบในทุกอณูของการปฏิบัติ ขณะเดียวกัน ต้องมีเรื่องของ Risk Management ด้วยจึงจะเกิด Resilience Healthcare และสิ่งสุดท้ายที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนเป็น High Reliability Organization ได้ ต้องอยู่ที่ Mindset, Mindfulness และ Culture

"ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้าง Culture หรือวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยในองค์กร เมื่อคนที่มี Growth Mindset มารวมกันทำสิ่งดีๆ ก็จะกลายเป็นพฤติกรรมร่วม กลายเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัย การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนลงมือทำ การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพและความปลอดภัยที่ความยั่งยืนในอนาคต เราให้ความสำคัญไม่เพียงแค่การเพิ่มคุณภาพแก่บริการทางการแพทย์ แต่ยังต้องสร้างความมั่นใจ ไว้วางใจจากผู้ป่วยและชุมชนรอบข้างด้วย"พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *