เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นางจตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมล่ามแปลภาษา (ไทย - เมียนมา) เพื่อปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 28 พฤศจิกายน 2567 โดยมี ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เข้าร่วม ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
นางจตุพร กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งภายในประเทศ และบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้น พร้อมทั้งมีความพยายามในการพัฒนาการดำเนินงาน ทั้งด้านการดำเนินคดี ด้านการป้องกัน และด้านการคุ้มครอง ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานหลักให้ความสำคัญเรื่องของการค้ามนุษย์ มีหน้าที่ในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ไม่เลือกปฏิบัติ และการดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมือจากทีมสหวิชาชีพ อาทิ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ล่ามแปลภาษา และวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และจากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2567 (TIP Report) กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้จัดระดับให้ประเทศไทย อยู่ใน Tier 2 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีหนึ่งข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ เพิ่มการใช้ล่ามและการเข้าถึงบริการล่ามแปลภาษาเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายทั้งในสถานคุ้มครองและในกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาล
นางจตุพร กล่าวต่อไปว่า ล่ามแปลภาษาถือเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานควบคู่ไปกับวิชาชีพอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์กับทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ ในการเข้าถึงบริการจากภาครัฐ ทั้งด้านการคุ้มครองช่วยเหลือและด้านกฎหมาย ตลอดจนการให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ ล่ามแปลภาษาจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการปฏิบัติงานล่าม รวมถึงมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสาขาวิชาชีพอื่น เพื่อสามารถถ่ายทอดข้อมูลได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง ทั้งนี้ จากการทำงานที่ผ่านมา พบว่าบุคลากรล่ามแปลภาษาเพื่อปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก และยังครอบคลุมไม่ทั่วถึงในทุกพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการล่ามแปลภาษา กระทรวง พม. จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมฯ ครั้งนี้ขึ้น
นางจตุพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมล่ามแปลภาษา (ไทย - เมียนมา) ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ ทักษะการทำล่าม รวมถึงบทบาทและจรรยาบรรณในการทำงานกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยข่าวกรองทางทหาร กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตนเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้การปฏิบัติงานล่ามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ล่ามแปลภาษา #ไทย_เมียนมา #ปราบปรามการค้ามนุษย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น