'วราวุธ' รมว.พม. ขึ้นเวที ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปี 67 ประกาศ "ให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม" - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

'วราวุธ' รมว.พม. ขึ้นเวที ยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ปี 67 ประกาศ "ให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม"

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่อาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางชื่อ) จตุจักร กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ประจำปี 2567 "ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน : ผลกระทบความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในสังคมไทย" "ให้ทุกเสียงมีพลัง ยุติความรุนแรงด้วยความเท่าเทียม" จัดโดย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) โดยมี ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม


นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือความรุนแรงในครอบครัว ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่ยวันละ 42 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 8 รายต่อวัน จากข้อมูลศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. สายด่วน พม. 1300 พบว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 4,833 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว จำนวน 3,421 ราย (71%) และภายนอกครอบครัว จำนวน1,412 ราย (29%) โดยความรุนแรงที่พบ อันดับหนึ่ง คือ ถูกทำร้ายร่างกาย 3,532 ราย (73.08) รองลงมา คือ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 814 ราย (16.84%) และอื่นๆ เช่น ถูกกระทำอนาจาร ถูกทอดทิ้ง 487 ราย (10.07%) และผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ประมาณ 3,500 ราย (72%) เพศหญิง 1,333 ราย (28 %) (หมายเหตุ 1 เคสมีถูกกระทำความรุนแรง ได้มากกว่า 1 รูปแบบ เช่น กระทำความรุนแรงทางร่างกายและทางจิตใจ) ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามี หรือเป็นพ่อ



กระทรวง พม. ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และมีความพยายามผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง คนทุกเพศ ทุกวัย และขจัดปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่ง พม. ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1 เสริมพลังผู้สูงอายุ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ 4 เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5 สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั่วถึง เป็นธรรม


กระทรวง พม. มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือหากเกิดความรุนแรงในครอบครัว การเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การวางแผนการดำเนินงานช่วยเหลือ ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือคุ้มครอง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ

พฤศจิกายนเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว กระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักต่อสังคม เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในครอบครัว และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประเด็นปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อรับมือกับปัญหา และขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุขึ้น


นอกจากการรณรงค์ยุติความรุนแรงที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปีแล้ว ยังมีเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับสถานการณ์และสภาพปัญหาความรุนแรงในสังคมปัจจุบัน การสร้างระบบ Family Line “เพื่อนครอบครัว” ผ่าน Application Line และเว็บไซต์เพื่อนครอบครัว เพื่อเป็นพื้นที่ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้องค์ความรู้แก่สมาชิกครอบครัว การสื่อสารสังคมเชิงรุก การร่วมลงนาม MOU และประกาศเจตนารมณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายและสมาคมกีฬานําร่อง รวมกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในวงการกีฬาและมีช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือกรณีถูกกระทำความรุนแรง หรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว


หากพบเห็นหรือถูกกระทำความรุนแรงขออย่านิ่งเฉย สามารถแจ้งมาได้ที่ ศรส. โทร 1300 โทรฟรี 24 ชั่วโมง หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์แจ้งเหตุเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #25พฤศจิกายน_วันยุติความรุนแรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น