เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “CRPD สร้างคุณค่าและโอกาสคนพิการไทย” ในงานแถลงข่าวผลการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Press conference on CRPD Monitoring and Implementation in Thailand) ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. สะพานขาว กรุงเทพฯ อีกทั้งมีการเสวนา หัวข้อ “ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านคนพิการในประเทศไทย และบูรณาการอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายในระดับสากล“ โดยผู้แทนของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ร่วมเสวนา
นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโลกร้อน ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งต่างๆ ในระดับโลก หรือแม้กระทั่งโรคระบาดต่างๆ อาทิ COVID-19 ฝีดาษลิง หรือโรคอื่นๆ ซึ่งกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก คือ กลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงคนพิการ แต่สำหรับประเทศไทยยังมีความท้าทายในเรื่องวิกฤตประชากร เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ เป็น Aged Society คือ เรามีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20 % ของประเทศ และมีจำนวนหนึ่งนั้นมีความพิการ และที่สำคัญเรากำลังจะก้าวขึ้นสู่สังคมผู้สูงอายุสุดยอด หรือ Super Aged Society อย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ภายในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราการเกิดน้อย โดยเฉพาะน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ และเด็กบางส่วนยังมีผลิตภาพต่ำ ไม่สามารถเป็นแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต
กระทรวง พม. จึงได้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น UNDP, UNV, UNFPA, UNWOMEN, UNICEF, ESCAP, WHO และ World Bank จัดทำ “นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร” เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทุกช่วงวัย โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบนโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 และได้นำเสนอในที่ประชุมสหประชาชาติเรื่องประชากรกับการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567
นายวราวุธ กล่าวว่า “นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ รวมถึงการสร้างโอกาสและคุณค่าคนพิการ ซึ่งแต่ละยุทธศาสตร์มี 5 มาตรการ และ วันนี้สังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิด คนพิการไม่ใช่ภาระ แต่คนพิการเป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะคนพิการเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่เพียงแต่คนพิการเท่านั้น แต่คนปกติอย่างพวกเรา มีโอกาสในการพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ มีโอกาสทางธุรกิจมากมายที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาศักยภาพ และการสร้างโอกาสคนพิการ
สำหรับ องค์การอนามัยโลก ได้ให้ความหมายของความพิการว่า คือ สิ่งที่ส่งผลให้บุคคลมีความบกพร่องด้วยการสูญเสีย หรือมีความผิดปกติของโครงสร้างของร่างกาย หรือการใช้งานของร่างกาย รวมถึงด้านจิตใจที่สังเกตหรือเห็นได้ชัดจนทำให้มีข้อจำกัด และอุปสรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการประกอบอาชีพ การเดินทาง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน ในขณะที่ ร้อยละ 16 ของประชากรโลกที่มีความพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นความพิการไม่ใช่เรื่องแปลก ความพิการไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนพิการคือส่วนหนึ่งของสังคม จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่สมควรร่วมอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ จึงได้จัดให้มีการยกร่างอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือ Convention on the Rights of Persons with Disabilities หรือ CRPD ขึ้น โดยถือว่าเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่พิทักษ์ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับคนพิการ โดยเฉพาะในเรื่องของความเสมอภาค และการเคารพศักดิ์ศรีของคนพิการ
นายวราวุธ กล่าวว่า อนุสัญญาฉบับนี้ เป็นอนุสัญญาฉบับแรกที่เชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนของคนพิการกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปัจจุบันมีประเทศภาคี 190 ประเทศ บวกสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา และตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยกระทรวง พม. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงาน พร้อมทั้งได้ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพันธกรณี ภายใต้ CRPD กับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมมาโดยตลอด ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในการสร้างโอกาสให้กับคนพิการในประเทศไทยในมิติต่างๆ วันนี้ จึงมีผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อน CRPD ดังนี้
1. บทบัญญัติของ CRPD ข้อ 24 Inclusive Education ได้กำหนดให้มีการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแบบเรียนรวมเพื่อให้เด็กพิการได้เรียนรวมกับคนทั่วไป และข้อ 27 เรื่อง Decent Work เพื่อผลักดันให้มีการจ้างงานคนพิการอย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี การจ้างงานด้วยความสามารถ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2556 รวมถึงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการส่งเสริมให้มีการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ
2. CRPD ได้ส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งความเท่าเทียม ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2556 และพัฒนาศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Services หรือ OSS ทั่วประเทศ ภายใต้คอนเซปต์ “จุดเดียวจบครบถึงเบี้ย” รวมถึงการออกประกาศให้การแสดงบัตรประจำตัวคนพิการด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน “บัตรคนพิการ” และการติดต่อสื่อสารกับศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านสายด่วน พม. 1300 และสายด่วน คนพิการ 1479
3. CRPD ข้อ 26 กำหนดให้รัฐภาคีจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการตามพันธกรณีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในหลายมิติ เริ่มจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2556 โดยในปีที่ผ่านมา กระทรวง พม. จัดทำ MOU ร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษา ด้วยโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ และในปีนี้ กระทรวง พม. มีแผนทำ MOU กับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อต่อยอด ขยายผลการพัฒนาศักยภาพคนพิการทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำโครงการมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการจำนวน 72,000 ชุด ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ อีกทั้งยังมีการอบรมหลักสูตรต่างๆ ในการดูแลคนพิการ และการจัดให้มีล่ามภาษามือครบทุกจังหวัด
4. CRPD ข้อ 9 กำหนดให้มีการส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ ด้วยหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ซึ่ง CRPD โดยระบุให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
นอกจากนี้ CRPD ข้อ 31 Disability Disaggregated Data เกี่ยวข้องกับการจัดทำฐานข้อมูลคนพิการและการจำแนกความพิการในฐานข้อมูลของทุกหน่วยงาน ซึ่งศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบ จัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้พยายามอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยได้นำเป้าหมายพันธกรณีภายใต้ CRPD มาเป็นเครื่องมือในการผลักดันให้คนพิการมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีทัดเทียมกับทุกคน ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม เรายังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากมาย โดยการแถลงผลงาน 1 ปี และมอบนโยบายกระทรวง พม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 “NEXT STEP พม.” เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นั้น กระทรวง พม. จะยกระดับในการขับเคลื่อนพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งเราจะมุ่งมั่นดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักสากลทางด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งในส่วนของการป้องกัน สนับสนุน ส่งเสริม และฟื้นฟูศักยภาพของกลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับประชาคมโลก และทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้กับกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งรวมถึงคนพิการด้วย เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราจะไม่ “รอ” ให้เกิดปัญหา เราจะไม่ “รอ” ให้คนนั้นทำ คนนี้ทำ เราจะลงมือทำด้วยกัน พร้อมๆ ไปกับการยกระดับการทำงานของเราในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของทุกคนในสังคมให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีในตัวเอง#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #CRPD #mou #คนพิการ #ความเสมอภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น