เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 เวลา 11.00 น. ที่สยามภวาลัย รอยัล แกรนด์เธียร์เตอร์ ชั้น 6 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศ (International Conference On Gender Equality 2024) ภายใต้แนวคิด “คุณค่าเพื่อถ่ายทอด ต่อยอดความเท่าเทียม” (Voices of the World: Gender Equality for All) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2567 โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวง พม. คณะผู้บริหารเครือกันตนา เอกอัครราชทูตและผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย ผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ ผู้แทนจากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน
นายอนุกูล กล่าวว่า การสัมมนาระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคและความหลากหลายทางเพศ (International Conference On Gender Equality 2024) ภายใต้แนวคิด “คุณค่าเพื่อถ่ายทอด ต่อยอดความเท่าเทียม” (Voices of the World: Gender Equality for All) เป็นเวทีที่สำคัญสำหรับเราทุกคน ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง สังคมของเรา ยังคงมีผู้คนที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจ ความเหลื่อมล้ำ และการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมที่เราทุกคนมีความรักและห่วงใยซึ่งกันและกัน สำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTIQ+ คือกลุ่มคนหนึ่งที่ยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีในการเป็นตัวเอง เพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนควรได้รับสิทธิในการแสดงออกได้อย่างเสรี
นายอนุกูล กล่าวว่า นอกจากนี้ ในด้านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เป็นที่ทราบกันว่าวุฒิสภาเพิ่งให้ผ่านกฎหมายข้อนี้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งทำให้เรากลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดเป็นกฎหมาย โดยระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนก่อนการบังคับใช้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีการเตรียมการความพร้อมเพื่อให้เกิดกลไกการทำงานเพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่จะออกมาบังคับใช้ เพื่อให้สังคมได้ตื่นตัวถึงเรื่องนี้
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า สำหรับ กลุ่มคนพิการก็เช่นกัน หลายคนยังต้องเผชิญกับอุปสรรค ทั้งทางกายภาพและทางสังคม การไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ หรือการถูกจำกัดโอกาสในการทำงาน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่คนพิการควรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการแสดงศักยภาพของตนเอง เพราะคนพิการคือผู้ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจถูกมองว่าคุณค่าลดลง ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของสังคม แต่ผู้สูงอายุคือคลังปัญญาที่อุดมด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนที่มีคุณค่าสำหรับถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลัง ซึ่งเราจึงต้องเสริมพลังและคุณค่าให้กับปู่ย่า-ตายายในการมีส่วนร่วมทางสังคม นอกจากนี้ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ตนอยากเห็นในวันนี้ และในอนาคตของสังคมไทย คือ สังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย เป็นสังคมที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สามารถดำรงชีวิตได้ตามฐานานุรูป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่จะเกิดขึ้นได้จากการที่เราทุกคนในสังคม เริ่มก้าวเดินไปพร้อมกัน เราต้องรับฟังกันและกัน เปิดใจรับรู้กับคนรอบข้าง และเมื่อเราทำเช่นนี้ ความเท่าเทียมในสังคมจะกลายเป็นความจริงที่จับต้องได้#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ความเท่าเทียมทางเพศ #ความหลากหลายทางเพศ #ความเสมอภาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น