เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 เวลา 14.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กำหนดทิศทางผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม (Navigating the Impacts of an Aging Society on Human Security and Social Development) ในการประชุมธุรกิจของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (ACMA Business Forum 2024) ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร
นายวราวุธ กล่าวว่า จากสถานการณ์ประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากอัตราการเกิดลดลง ประชากรวัยทำงานลดลง ในขณะที่ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีประชากรสูงอายุ 13 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20 ในขณะที่มีเด็กเกิดใหม่ 5.18 แสนคนเท่านั้น (ข้อมูลกรมการปกครอง ณ 19 ม.ค. 2567) และในปี 2576 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 18.38 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุยังคงทำงาน ประมาณ 5.11 ล้านคน หรือร้อยละ 37.5 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และภายใน 10 ปี ข้างหน้า กลุ่มประชากรวัยแรงงานตอนปลายกำลังทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุกลายเป็นคลื่นมนุษย์ขนาดมหึมาที่กำลังเข้ามาสมทบกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีจำนวนและสัดส่วนมากอยู่แล้ว ยิ่งเร่งให้จำนวนเพิ่มขึ้นเร็วมากขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับการดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุ (Potential Support Ratio) จะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของประชากรวัยทำงาน ผู้สูงอายุอาศัยรายได้อุดหนุนจากครอบครัว ร้อยละ 32.2 ในขณะที่มีรายได้จากการทำงานด้วยตนเอง ร้อยละ 32.4 ผู้ที่อยู่ในวัยใกล้เป็นผู้สูงอายุ (อายุ 50 - 59 ปี) มีภาระในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่ (อายุ 80 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบของสังคมสูงวัย ได้แก่ 1. ระบบสวัสดิการและหลักประกันของรัฐมีแนวโน้มล้มละลาย 2. ครอบครัวไทยกำลังเลือนหาย และ 3. ประชากรวัยเด็กและแรงงานน้อยลง และผลิตภาพ (Productivity) ของประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ “เด็กน้อย แรงงานน้อย ด้อยคุณภาพ”
นายวราวุธ กล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ปัญหาโครงสร้างประชากรดังกล่าว กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 1. เสริมพลังวัยทำงานตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้พร้อมสูงอายุอย่างมีคุณภาพ 2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน เด็กน้อยแต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ 3. สร้างพลังผู้สูงอายุ ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส 4. เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5. สร้างระบบนิเวศ (Eco - System) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับการสร้างพลังผู้สูงอายุนั้น ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส จำเป็นต้องขับเคลื่อนงานสำคัญ ดังนี้.1. มุ่งเน้นการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค และการเสริมพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ 2. ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงาน พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Literacy) และลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้สูงอายุ 3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น จัดระบบบริบาลผู้สูงอายุในชุมชน และพัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนโดยชุมชน เป็นต้น
4. ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชนที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การสัญจรและการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ และ 5. ส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการอย่างครบวงจรกับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ทุกภาคส่วนร่วมกัน “คืนลูกให้ครอบครัว คืนครอบครัวให้สังคม คืนสังคมให้ประเทศ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในระยะสั้น และหาแนวทางเพิ่มปริมาณในระยะยาว โดยทำอย่างรู้เท่าทันโลก ทำอย่างมุ่งเป้า ทั่วถึง เป็นธรรม และมุ่งเน้นให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อครอบครัวที่มั่นคงและชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ฝ่าวิกฤตประชากร #ผู้สูงอายุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น