พม. จัดประชุมทวิภาคี ไทย - เมียนมา ครั้งที่ 30 หนุนบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับ-คืนสู่สังคมผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567

พม. จัดประชุมทวิภาคี ไทย - เมียนมา ครั้งที่ 30 หนุนบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับ-คืนสู่สังคมผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์


เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมทวิภาคี ไทย - เมียนมา ครั้งที่ 30 ด้านการบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับและคืนสู่สังคมผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (The 30th Case Management Meeting : CMM) โดยมีคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย กระทรวง พม. สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะผู้แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นำโดย Mr. Maung Maung Kyaw อธิบดีกรมฟื้นฟูเยียวยา กระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกัน และพัฒนาการดำเนินงานด้านการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงาน


นายอนุกูล กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 และได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ร่วมกัน เพื่อนำกรอบความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในกิจกรรมของแผนปฏิบัติการ ได้กำหนดให้มีการประชุมทวิภาคีไทย - เมียนมา ด้านการบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับและคืนสู่สังคมผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (Case Management Meeting on the Return and Reintegration of Victims of Trafficking) เพื่อเป็นการประชุมทวิภาคีในระดับกลาง สำหรับการบริหารจัดการการช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพ การช่วยเหลือในทางกฎหมาย การติดตาม และการพิสูจน์สัญชาติ โดยหน่วยงานประเทศต้นทางของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่อยู่ในความดูแลของสถานคุ้มครอง และช่วยให้การส่งกลับและคืนสู่สังคมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กำหนดจัดการประชุมทุก 6 เดือน โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพหรือตามที่ตกลงกัน


นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์นั้น ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ โดยปราศจากความร่วมมือ ที่ผ่านมา การทำงานของไทยและเมียนมา เป็นเสมือนต้นแบบการทำงานของประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือร่วมกัน และจะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงเกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้วิธีการทางออนไลน์ ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อน และเกิดความเสียหายในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ดังนั้น ถือเป็นความท้าทายในการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันพัฒนาแนวทางมาตรการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และสามารถกลับคืนสู่สังคมภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเองอย่างปลอดภัยและยั่งยืนในที่สุด#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #การประชุมทวิภาคีไทยเมียนมาครั้งที่30 #CMM



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น