"พิมพ์ภัทรา" ผลักดันต้นแบบสวนทุเรียนอัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบโจทย์นโยบาย RESHAPE THE FUTURE - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

"พิมพ์ภัทรา" ผลักดันต้นแบบสวนทุเรียนอัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตอบโจทย์นโยบาย RESHAPE THE FUTURE


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดการอบรม “กิจกรรมส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติ” ภายใต้การพัฒนาพื้นที่นำร่องเพาะปลูกทุเรียนเพื่อการเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร โดยนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย ที่ปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 นายศุภชัย โจมฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง ร่วมเปิดงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE: โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะโลกที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเทคโนโลยี (Digital Disruptions) จึงจำเป็นต้องเร่งให้ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตที่เกิดขึ้น การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) เพื่อสร้างชุมชนเปลี่ยนก็เป็นสิ่งสำคัญ การเตรียมชุมชนให้ดีพร้อม เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนรอบข้างอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรฐานราก


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินกิจกรรม “ส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติ” ภายใต้การพัฒนาพื้นที่นำร่องเพาะปลูกทุเรียนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบการให้น้ำแบบอัตโนมัติในพื้นที่การเกษตร เป็นโมเดลต้นแบบการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาประยุกต์ในสวนเกษตรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการเอกชน เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับชุมชนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งในกระบวนการผลิต และการพัฒนาบุคลการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


โดยระยะเริ่มแรก ได้นำร่องในพื้นที่ของ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งภายใน จ.นครศรีธรรมราชมีพื้นที่การปลูกทุเรียนกว่า 100,000 ไร่ (ที่มา: ข้อมูลพื้นฐานของจังหวัดนครศรีธรรมราช, สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำเดือนมีนาคม 2567) เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ โดยดำเนินการให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงระบบแนวท่อ จุดจ่ายน้ำด้วยมินิสปริงเกอร์ ระบบการใช้พลังงานด้วยโซลาร์เซลล์ การควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ด้วยระบบ IoT ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต ลดจำนวนแรงงาน ลดเวลาการทำงาน และในอนาคตจะเร่งขยายผลไปสู่ชุมชนรอบข้าง และในผลผลิตอื่นๆ ต่อไป โดยผลจากการดำเนินงานจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชน ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นที่สนใจ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น