เมื่อวันที่ 11 ก.ค.67 เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมด้วยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ก่อนประชุม นายกฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการอาหารฮาลาล เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม (น้ำผลไม้) ชุดเสื้อผ้าแฟชันฮาลาล เครื่องสำอาง น้ำหอม สกินแคร์ และสปา ฯลฯ
โอกาสนี้นายกฯ ได้ขอบคุณทุกคนที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ ครั้งแรกในวันนี้ พร้อมกล่าวถึงที่มาของการดำเนินการดังกล่าวถึงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลว่า รัฐบาลต้องการจะขยายตลาดให้กับอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของไทย โดยย้ำว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารสูงมาก ประกอบกับปัจจุบันมีสถานการณ์เรื่องของ Geopolitics การค้าระหว่างประเทศ และมีความขัดแย้งระหว่างประเทศสูง ซึ่งพื้นฐานหรือปัจจัยสี่ของความอยู่รอดก็คืออาหาร ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยมี Supply Chain ที่แข็งแกร่งทั้งแรงงานในภาคขนส่ง สภาพอากาศภูมิกาศที่เหมาะสมกับการที่เราเป็นประเทศความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเปิดตลาดได้มากขึ้น รวมทั้งสืบเนื่องจากการที่นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปต่างประเทศและได้พบปะผู้นำประเทศที่มีประชาชนเป็นมุสลิม ผู้นำประเทศดังกล่าวต่างให้ความสำคัญกับอาหารฮาลาลและสนใจต้องการที่จะเข้ามาร่วมทุนกับเรา นอกจากนี้ปัญหาชายแดนภาคใต้เรื่องความมั่นคงนั้น หากมีการนำเรื่องของการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องของอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทยนั้นมาพัฒนาจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้สูงมากขึ้นซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี
นายกฯ กล่าวย้ำในแง่ของการทำงานว่าขอให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการรับผิดชอบอย่างครบวงจร ทั้งการขยายตลาดและส่งเสริมสินค้าบริการฮาลาลระหว่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และสนับสนุนผู้ประกอบการ และอยากให้ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยมีการทำงานอย่างจริงจัง มีคน และมีงบประมาณที่ชัดเจนภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมนี้ยังจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องในภาคใต้ได้ ทั้งสร้างงาน พัฒนาฝีมือ สร้างรายได้ให้สูงมากขึ้น ก่อให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมาก จึงฝากให้ทุกคนให้ความสำคัญช่วยกันผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้มีอนาคตต่อไป
สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ได้แก่ ที่ประชุมเห็นชอบความคืบหน้าในการดำเนินงานและงบประมาณการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น ASEAN Halal Hub หรือศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 2570 ตอบโจทย์นโยบาย IGNITE THAILAND ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) โดยแผนปฏิบัติการฉบับนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 1.2% คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท และสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 100,000 ตำแหน่งต่อปี พร้อมกันนี้ที่ประชุมเห็นชอบผลักดันการจัดตั้งไทยแลนด์ ฮาลาล วัลเลย์ (Thailand Halal Valley) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาล จากข้อมูลของ Adroit Market Research ระบุว่า ในปี 2020 ตลาดฮาลาลโลก มีมูลค่า 7.2 ล้านล้านเหรียญฯ และคาดว่าจะสูงถึง 11.2 ล้านล้านเหรียญฯ ภายในปี 2028 เนื่องจากประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดฮาลาลเกิดการขยายตัว ครอบคลุมอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น modest fashion (แฟชั่นที่ปกปิดมิดชิดตามหลักศาสนาอิสลาม) การท่องเที่ยวเครื่องสำอาง การสื่อสารและสันทนาการ เป็นต้น โดยมูลค่าของตลาดการค้าอาหารฮาลาลโลกในปี 2567 อยู่ที่ 2.60 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 12.5% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศมุสลิม นับเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยต้องเข้าไปมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยตามนโยบายรัฐบาลจะช่วยสร้างการรับรู้และการยอมรับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจนธุรกิจ MICE รวมทั้งยังเป็นการขับเคลื่อน Soft Power ของไทย ลดข้อจำกัด แก้ไขระเบียบ และบูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยได้มีการมอบหมายให้ ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา การเจรจาเพื่อลดอุปสรรคจากกฎระเบียบและมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อให้เข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพทั้งตลาดเดิมและตลาดใหม่ ๆ
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปจะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3. ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4. โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 5. บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล ทั้งนี้ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ปี 2567-2570 ได้วางกรอบใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ 1.การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย 2. การพัฒนาการผลิตได้มาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย 3. การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีโครงการที่เป็น Quick Win (พ.ศ. 2567 - 2568) ใช้งบประมาณ 95 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ได้แก่ สร้างการรับรู้ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย และการจัดทำระบบ Halal IU ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด เป็นต้น
สำหรับศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย สร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าผ่านการขยายตลาดการค้าสินค้าและบริการฮาลาล ทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น