"ชัชชาติ" ไม่ขัดข้องการแต่งตั้งกก.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ.2568 จากบุคคลภายนอก แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภา กทม. - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

"ชัชชาติ" ไม่ขัดข้องการแต่งตั้งกก.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ.2568 จากบุคคลภายนอก แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจากสภา กทม.


เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม ณ สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นการเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งหลักการของกทม. จะไม่มีการกู้เงิน แต่จะใช้เงินให้เท่ากับการประมาณการรายรับของกทม. ซึ่งกทม.อาจจะใช้เงินเกินงบฯ เนื่องจากเรามีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต่อเนื่องมา


สำหรับการของบประมาณในปีนี้ จะเน้นเรื่องของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ในระดับเส้นเลือดฝอย จะเห็นได้ว่าเราจัดสรรงบประมาณไปสู่สำนักงานเขตกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะว่าชีวิตของพี่น้องประชาชน จะเกี่ยวข้องกับสำนักงานเขตในพื้นที่เป็นหลัก อาทิ น้ำท่วม ไฟฟ้าแสงสว่าง การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการเสนอของบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ของกทม. เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ การก่อสร้างเขื่อน โรงงานกำจัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นการของบประมาณในโครงการที่ต่อเนื่อง


ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ กทม. พ.ศ.2568 ที่จะมีการเสนอบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในการพิจารณางบประมาณ และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบทุจริตเข้าไปเป็นคณะกรรมการนั้น ทางผู้บริหารกรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบ ดังนั้นหากกทม.ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบัญญัติ และข้อบังคับต่างๆ ถูกต้อง ไม่มีการทุจริต ก็พร้อมที่จะให้มีการตรวจสอบและไม่ขัดข้องในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ แต่ตามขั้นตอนต้องเป็นเรื่องของสภากรุงเทพมหานครในการตกลงกัน ซึ่งการจัดสรรงบประมาณฯ ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน โดยสะท้อนผ่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นหลัก ในการนำเสนอความต้องการของประชาชน สู่การแปรงบประมาณฯ ซึ่งต้องร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารกรุงเทพมหานครและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้มีความโปร่งใสโดยยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก และเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวในการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสร่วมกัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น