เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นายประสงค์ พันธ์ลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เปิดเผยว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ สธค. โรงรับจำนำของรัฐ มีภารกิจสำคัญเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ที่ประสบปัญหาเฉพาะหน้าขาดแคลนเงินใช้ในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ โดยสามารถนำทรัพย์สินมาจำนำ ด้วยดอกเบี้ยในอัตราต่ำ ตามนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าโรงรับจำนำเอกชน ทั้งนี้วันที่ 19 ก.ค. 67 ระหว่างเวลา 09.30 น – 15.00 น. ทาง สธค. มีการนำทรัพย์หลุดจำนำ ออกจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป อาทิ ทองคำรูปพรรณ เพชรรูปพรรณ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ที่ อาคาร 8 ชั้น 1 สำนักงานธนานุเคราะห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ซึ่งประชาชนที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2281-7500 ต่อ 121 (ส่วนบริการทรัพย์หลุดจำนำ)
นายประสงค์ กล่าวต่ออีกว่า สธค.โรงรับจำนำของรัฐเพื่อสังคม มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชน จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเริ่มที่ร้อยละ 0.25 บาท ต่อเดือน สธค. ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวง พม. รับจำนำอัตรา เงินต้นรับจำนำไม่เกิน 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน เงินต้นรับจำนำ 5,001 - 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 ต่อเดือน เงินต้นรับจำนำ 10,001 - 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน และเงินต้นรับจำนำ 20,001 - 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยที่ถูกกว่าโรงรับจำนำเอกชนอย่างแน่นอน สามารถไปเปรียบเทียบได้ สะท้อนให้เห็นว่าโรงรับจำนำของรัฐเพื่อสังคมทั้ง 45 แห่ง ของกระทรวง พม. จะให้บริการวงเงินรับจำนำสูง คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนประสบปัญหาทางการเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น