เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลนี้ โดยผ้าลายพระราชทาน ประจำปี 2567 “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” มีลายพระราชทานหลักจำนวน 4 ลาย ได้แก่ ลายวชิรภักดิ์, ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ๒๕๖๗, ลายหัวใจ และลายดอกรักราษฎร์ภักดี พระราชทานแก่ศิลปินช่างทอผ้าและหัตถกรรมไทย ผ่านทางกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว, ประเภทผ้ายก, จก, ขิด, แพรวา, ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ทุกประเภทสามารถนำลายพระราชทานหลักทั้ง 4 ลายนี้ ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน
โอกาสนี้ กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนศิลปินและประชาชน นำลายพระราชทาน ประจำปี 2567 “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ไปใช้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างอาชีพ และขอเชิญชวนข้าราชการและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ประชาชน และผู้สนใจ สวมใส่ผ้าลายดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีมหามงคลนี้ร่วมกัน
สำหรับข้อมูลเบื้องต้นแต่ละลาย มีดังนี้
* ลายวชิรภักดิ์ เป็นลายพระราชทานที่ได้รับแรงบันดาลพระทัย จากอักษร “ว” ซึ่งเป็นอักษรพระปรมาภิไธยตัวแรกของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
* ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ๒๕๖๗ เป็นลายพระราชทานที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทานลำดับแรก “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”
* ลายหัวใจ สื่อถึงความรักและความห่วงใยใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในทุกภาคทั่วประเทศ
* ลายดอกรักราษฎร์ภักดี เป็นลายพระราชทานที่ทรงออกแบบต่อยอดจากลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” สื่อถึงความรักและความภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชจักรีวงศ์
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติม หรือดาวน์โหลดลายผ้าได้ที่ https://url.in.th/Pjjku
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น