เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 เวลา 09.30 น. นางณฐอร อินทร์ดีศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมค่ายคัดเลือกเยาวชนพิการไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2567 ในระหว่างวันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร
นางณฐอร กล่าวว่า คนพิการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้มีความสามารถดำรงชีวิตประจำวัน และมีส่วนร่วมในสังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ทั้งนี้ กระทรวง พม. พก. ได้เริ่มส่งเยาวชนพิการไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ในโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ ปี 2558 (ค.ศ. 2015) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเยาวชนพิการไทยได้ทำผลงานเป็นที่น่าชื่นชม ได้รับเหรียญรางวัลในสาขาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ
ในปีนี้กระทรวง พม. โดย พก. จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายคัดเลือกเยาวชนพิการไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกเยาวชนพิการไทยที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้าร่วมการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2567 (2024 Global IT Challenge for Youth with Disabilities) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยจะดำเนินการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพและมีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้กำหนดไว้ในการแข่งขันแต่ละประเภท ทั้ง 4 ประเภท
ได้แก่ 1) eTool challenge เป็นการประเมินความสามารถในการใช้โปรแกรม MS - office ได้แก่ โปรแกรม Excel และ PowerPoint 2) eLifeMap challenge เป็นการฝึกการใช้ web browsing 3) eContent challenge เป็นการประเมินความสามารถในการตัดต่อและสร้างวีดีโอ โดยใช้โปรแกรมMovie Maker และ 4) eCreative challenge เป็นการใช้โปรแกรมScratch ซึ่งเป็นโปรแกรมการออกแบบเรื่องราวและการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ภายใต้หัวข้อที่กำหนดและวิชา IOT เป็นการคิดนวัตกรรมสำหรับคนพิการ การใช้เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตมาใช้กับอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ ผู้เข้าแข่งขันจะได้ฝึกฝนความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ อย่างมีเหตุมีผล
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย เยาวชนพิการ จำนวน 50 คน ผู้ปกครอง ผู้ดูแลคนพิการ วิทยากรและเจ้าหน้าที่ จำนวน 50 คน รวมทั้งสิ้น 100 คน กิจกรรมประกอบด้วย การให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการฝึกปฏิบัติจริงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และการพัฒนาภาวะผู้นำของเยาวชนพิการไทย โดยคณะวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการฝึกปฏิบัติและให้ความรู้แก่เยาวชนพิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น