บุหรี่เถื่อนแตะนิวไฮ กระทบภาษีสรรพสามิตยาสูบ แค่ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 ลดลงแล้ว 14% สหภาพแรงงานยาสูบเผยบุหรี่เถื่อนเข้าขั้นวิกฤติแตะ 22.6% ทั่วไทยโดยเฉพาะ ภาคใต้ กรุงเทพและปริมณฑล วอนรัฐเร่งปราบปรามด่วน ก่อนบุหรี่เถื่อนฮุบตลาดยาสูบไทย
นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยาสูบแห่งประเทศไทย เผยผลการสำรวจอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนในประเทศไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ว่า เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปีเดียวกัน 0.3% สอดคล้องกับการลดลงของรายได้ภาษียาสูบของกรมสรรพสามิต ที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 ที่จัดเก็บได้เพียง 21,653 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 14% และสำหรับการยาสูบแห่งประเทศไทยเองปัจจุบันก็แทบไม่มีการจำหน่ายบุหรี่แบรนด์ไทยในพื้นที่บางจังหวัดภาคใต้แล้ว เพราะไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่เถื่อนได้ จนกำไรปีล่าสุดเหลือเพียงกว่า 200 ล้านบาทเท่านั้น ตนยังคงมองไม่เห็นทางว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการปราบปรามบุหรี่เถื่อนเหมือนเช่นกรณีหมูเถื่อน
ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การยาสูบแห่งประเทศไทย ระบุว่า การบริโภคบุหรี่เถื่อนได้ทวีความรุนเรงขึ้นมากในช่วงตั้งแต่กลางปี 2566 เป็นต้นมา โดยเป็นผลมาจาการขยายตัวของบุหรี่เถื่อนเข้ามายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพื้นที่แถบนี้อย่างสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี ปัจจุบันมีปริมาณบุหรี่เถื่อนมากสุดในประเทศหรือประมาณ 42% ของปริมาณบุหรี่เถื่อนทั้งหมดในประเทศไทย ในขณะที่จังหวัดในภาคใต้ก็ยังคงเป็นแหล่งที่มีกระจุกตัวของบุหรี่เถื่อนมากเป็นพิเศษ และยังครองแชมป์ 5 จังหวัดที่มีสัดส่วนบุหรี่เถื่อนสูงสุด โดย สตูล พัทลุง สงขลา ภูเก็ต ระนอง และนครศรีธรรมราช มีสัดส่วนบุหรี่เถื่อนมากกว่า 97% 85% 84% 74% 68% และ 65% ตามลำดับ นอกจากนี้ เชียงราย ก็เป็นอีกจังหวัดที่น่าจับตามอง เพราะมีอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนถึง 11% เพิ่มขึ้น 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 เดือนจากการสำรวจครั้งที่แล้ว จึงอาจตั้งสมมติฐานได้ว่าตอนนี้บุหรี่เถื่อนรุกเข้าไทยในทุกด้าน ทั้งทางบกและทางทะเลโดยมีแหล่งกำเนิดจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น และเมื่อเข้ามาแล้วหากไม่มีการดักจับตั้งแต่ต้นทาง สินค้าเหล่านี้ก็จะถูกส่งต่อแพร่กระจายสู่หัวเมืองต่าง ๆ เพื่อขายทั้งตามหน้าร้านผิดกฎหมายและร้านออนไลน์ ผ่านการขนส่งทางรถหรือผ่านทางไปรษณีย์กันอย่างรวดเร็วและแพร่หลาย
นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพสามิตและการยาสูบแห่งประเทศไทยต่างอยู่ใต้กระทรวงการคลังที่มีนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นเจ้ากระทรวง "ขณะที่ 2 หน่วยงานสำคัญกำลังเดือดร้อน รายได้หายกำไรหดมานานหลายปี จนไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าวิกฤติได้อีกกี่ครั้ง เพราะทุกครั้งที่มีการประกาศตัวเลขใด ๆ ออกมา ก็มีแต่คำว่าแย่ลง แต่ทำไมนายกรัฐมนตรีถึงยังไม่รับรู้ปัญหาบุหรี่เถื่อนสักที ในฐานะตัวแทนของพนักงานการยาสูบแห่งประเทศไทยกว่า 2,000 คน รวมถึงทุกคนในอุตสาหกรรมยาสูบ ตั้งแต่ภาคการเกษตร 30,000 ครัวเรือน จนถึงร้านค้าส่งค้าปลีกกว่า 500,000 ร้านทั่วไทย อยากวิงวอนขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยออกคำสั่งแก้ไขปัญหาบุหรี่เถื่อนอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่มีคำสั่งจากท่านคงยากที่แต่ละหน่วยงานจะทำงานบูรณาการได้อย่างสมบูรณ์แบบ และยกระดับปัญหาเข้าเจรจากับประเทศต้นทางด้วยเพื่อปกป้องรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง”
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตเปิดเผยสถิติการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเดือนตุลาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 พบภาษีรถยนต์ เบียร์ สุรา และยาสูบลดลงเมื่อเทียบกับยอดเก็บจริงในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นรายได้หลักของกรม โดยเฉพาะภาษียาสูบที่ลดลงต่อเนื่องมาตลอดหลายปีภายหลังการยกเครื่องโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งใหญ่ในปี 2564
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น