“สานใจไทย สู่ใจใต้” พิธีเปิดโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 42 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567

“สานใจไทย สู่ใจใต้” พิธีเปิดโครงการ สานใจไทย สู่ใจใต้ รุ่นที่ 42



เมื่อวันที่  24 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 42 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก (ส่วนกลาง) วิภาวดี กรุงเทพฯ



​โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้มีการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2548 จากดำริของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ได้มีความมุ่งหวังให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รับโอกาสการพัฒนา การเรียนรู้ ประสบการณ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยการดำเนินงานของโครงการเป็นการขับเคลื่อนภายใต้มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้”





​เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”รุ่นที่ 42 ได้ผ่านกระบวนการสรรหาเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) ซึ่งกำลังศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 319 คน เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ 30 วัน โดยในแต่ละปีมีกำหนดจัดกิจกรรมในช่วงปิดภาคเรียนปีละ 2 รุ่น ช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ระหว่างเดือน กันยายน – ตุลาคม ช่วงปิดภาคเรียนที่ 2 ระหว่างเดือน เมษายน – พฤษภาคมโดยในรุ่นที่ 42 จะดำเนินการระหว่าง 17 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2567







​โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ดำเนินการในลักษณะของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีมูลนิธิ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นหน่วยประสานการขับเคลื่อน ซึ่งมีกิจกรรมโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วยการเข้าค่ายเพื่อเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้ในเรื่องต่างๆเช่น การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ชาติไทย การเปิดโลกวิทยาศาสตร์ และส่วนที่สำคัญคือการพำนัก กับครอบครัวอุปถัมภ์เป็นเวลา 15 วันเพื่อให้รับประสบการณ์การใช้ชีวิตและทักษะในการปฏิบัติกับชุมชนเมื่อเยาวชน ได้เข้าร่วมโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้” แล้วจะได้ความรู้ประสบการณ์วิถีชีวิตที่มีความหลากหลายและมีความเข้าใจ ถึงการอยู่ร่วมกันในแบบสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งของพลังแผ่นดิน สามารถที่จะปรับตัวพร้อมเผชิญกับ สิ่งท้าทายใหม่ๆ ในภายภาคหน้าด้วยความมั่นใจ และสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ให้มีความเจริญก้าวหน้าและมีความปกติสุขตามปณิธานของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ ว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น