เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 67 เวลา 09.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยล่องเรือตามแนวคลองเปรมประชากร เริ่มจากลงเรือที่ท่าเรือชั่วคราวใต้สะพานข้ามแยกบางซื่อ แล้วขึ้นที่ท่าเรือบริเวณชุมชนประชาร่วมใจ 1 (หลังวัดเสมียนนารี) เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนชาวชุมชน พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และล่องเรือต่อไปยังท่าเรือ ปตท. จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์ไปตรวจเยี่ยม โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด (ระยะที่ 2) ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการเขตจตุจักร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร พ.ศ. 2562 - 2570 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ความยาว 50.8 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน มีบ้านเรือนชุมชนปลูกสร้างรุกล้ำตลอดแนวคลอง ตั้งแต่เขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งหมด 38 ชุมชน 6,386 ครัวเรือน ส่งผลกระทบต่อการรับน้ำและระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562 - 2565 จำนวน 4 โครงการหลัก อาทิ การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรตลอดสาย ส่วนบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลำคลอง อยู่บนที่ดินราชพัสดุ ส่วนใหญ่สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ภายใต้การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน 1,699 ครัวเรือน โดยก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวชุมชนสามารถเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน ส่วนชุมชนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ ชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชน สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด และสร้างบ้านใหม่ริมฝั่งคลอง เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน อีกทั้งทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”
นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้ มีการปรับปรุงพื้นที่และแก้ไขปัญหาเรื่องการรุกล้ำลำคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในคลองหลักที่ต้องใช้ในการระบายน้ำ และการรักษาระบบนิเวศน์ จากการโยกย้ายพี่น้องประชาชนที่อาศัยรุกล้ำลำคลองกลับขึ้นไปอยู่สองฝั่งตลิ่งนั้น ทาง พอช. ได้ทำงานร่วมกันกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำงานร่วมกัน มีการดูแลและพัฒนา ซึ่ง พอช. มีหน้าที่ในการหางบประมาณมาสนับสนุนพี่น้องประชาชนในการสร้างที่พักอาศัยใหม่ ที่สามารถเชิดหน้าชูตาของกรุงเทพมหานครได้ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันรักษาความสะอาด รักษาชุมชนให้สวยสดงดงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน
นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 67ที่ผ่านมามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามตนในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงพี่น้องกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งเราได้มีการสนับสนุน การเยียวยาดูแลพี่น้องคนพิการ รวมถึงถ้าหากชุมชนใดที่มีพี่น้องคนพิการ ไม่มีรายได้ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้นั้น ทาง พอช. จะมีงบประมาณในการสร้างบ้านกลางให้กับพี่น้องกลุ่มนี้ โดยที่ชุมชนต้องทำความตกลงกันที่จะช่วยกันดูแลค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่างๆ ถือว่าเป็นการร่วมมือกันของชุมชน ทั้งภาครัฐและพี่น้องประชาชนในการสร้างสภาพแวดล้อมสังคมให้มีคุณภาพและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
นายวราวุธ กล่าวว่า ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ ที่มีการวางแผนจะดำเนินการให้ตลอดทั้งสองฝั่งคลองเปรมประชากร รวม 38 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีความละเอียดอ่อน และมีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่เราเน้นย้ำในการทำงานร่วมกันของพี่น้องในชุมชน และหน่วยงานราชการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ชุมชนจะเกิดได้ เงินส่วนหนึ่งจากหน่วยงานราชการ และอีกส่วนหนึ่งจากพี่น้องประชาชนที่เป็นการผ่อนชำระ แล้วมาช่วยกันเพื่อทำให้ชุมชนและสังคมของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอีกหลายพื้นที่ที่ทาง พอช. กำลังดำเนินการเจรจากับพี่น้องประชาชนอยู่ โดยบางพื้นที่กำลังทำเรื่องขออนุญาตใช้ที่ดิน แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วชุมชนต้นแบบเราจะขยายให้ครบทั้ง 38 ชุมชน ตลอดริมฝั่งคลองเปรมประชากร#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #บ้านมั่นคง #คลองเปรมประชากร #พอช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น