เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดเวทีสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมายในโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยมี นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขเพื่อพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยมีนางสาวโสพิญฐ์ สุวรรณหงส์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง เป็นผู้กล่าวต้อนรับ มีนายเจตนา วุฒิญาณ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1 เป็นผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของการรถไฟทั่วประเทศ และมี นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง เป็นผู้แทนจาก พอช. ชี้แจงแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ให้แก่ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนายอำเภอ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด อำเภอกันตัง และอำเภอรัษฎา ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น เครือข่ายชุมชน ตลอดจนผู้แทนภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง รวมทั้งสิ้นกว่า 60 คน
นายทรงกลด กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการแก้ไขเพื่อพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยขอความร่วมมือให้มีการขับเคลื่อนงานร่วมกันด้วยความชัดเจน โดยมีระบบสาธารณูปโภค ทั้งระบบไฟฟ้า และระบบน้ำปะปาที่สมบูรณ์ครบถ้วน เป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอนของทางราชการ โดยขอความร่วมมือให้ชุมชนสอดส่องดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้มีการบุกรุกหรือรุกล้ำพื้นที่ขยายเพิ่มขึ้น
นายทรงกลด กล่าวเน้นย้ำว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยเป็นงานสำคัญ ขอให้ดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นระเบียบ ช่วยใหัมีสภาพแวดล้อมที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้ได้รับผลกระทบในด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ดังนั้น จึงต้องมีการทำงานแบบมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ สามารถพัฒนารูปธรรม/ความสัมพันธ์ในแนวราบ ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจะได้พัฒนาด้านคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ด้านที่ดินทำกิน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างร้ายได้ในทุกมิติต่อไป
ทางด้าน นางณัฐนิชา ผู้แทนจาก พอช. ได้กล่าวถึง แนวทางในการดำเนินโครงการสนับสนุนเพื่อการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้อนุมัติแผนงานและงบประมาณโครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง จำนวน 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน งบประมาณ 7,718 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งจังหวัดตรังมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว 4 อำเภอ 13 ตำบล 26 ชุมชน 1,882 ครัวเรือน ได้แก่ อำเภอห้วยยอด 12 ชุมชน 731 ครัวเรือน อำเภอกันตัง 8 ชุมชน 440 ครัวเรือน อำเภอเมืองตรัง 4 ชุมชน 331 ครัวเรือน อำเภอรัษฎา 2 ชุมชน 380 ครัวเรือน และมีชุมชนที่เสนอโครงการขอรับงบประมาณแล้ว จำนวน 4 ชุมชน และมีแผนการดำเนินการในปี 2567 อีกจำนวน 9 ชุมชน ซึ่ง พอช.จะเร่งดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น