เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า กรณีข่าวที่กล่าวถึงกระทรวง พม. ว่าจะส่งเด็ก 19 คน กลับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่า ข่าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กระทรวง พม. และรัฐบาลไทย เป็นคู่สัญญาของสนธิสัญญาว่าด้วยการปกป้องสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) หรือ CRC และเป็นคู่สัญญาฉบับนี้ไม่ต่ำกว่า 30 - 40 ปี ดังนั้น แนวทางที่อยู่ๆ กระทรวง พม. จะส่งเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นไปไม่ได้ ซึ่งข่าวที่นำเสนอโดยแหล่งใดก็ตาม ต้องเรียนด้วยความสัตย์จริงว่า กระทรวง พม. ไม่เคยทำ เพราะว่าสนธิสัญญา CRC ที่เราร่วมเป็นคู่สัญญานั้น หน้าที่ของกระทรวง พม. คือจะต้องดูแลสิทธิของเด็ก ดูแลสวัสดิภาพของเด็กทั้งกายและใจ รวมถึงการศึกษาของเด็ก
ดังนั้นการที่เป็นข่าวออกมาผ่านหลายช่องทางทั้งโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชน ตนไม่แน่ใจว่าต้นตอของข่าวมีเจตนาใด แต่ต้องขอเรียนใน 2 ประเด็นว่า ข้อที่ 1 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวทางตะเข็บชายแดนประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และก่อนที่คนกลุ่มใดจะให้ข่าว ขอให้ระมัดระวัง เพราะว่าข่าวในลักษณะนี้มีความละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ขออย่าได้ให้ข่าวเพียงแค่ความสนุก และขอฝากอีกเช่นกันว่า ข่าวลักษณะนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการกระทรวง พม. ที่ตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เราทำงานแบบปิดทองหลังพระมาโดยตลอด
นายวราวุธ กล่าวว่า ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ได้ส่งรายละเอียดการประชุมให้ตนดูว่า การประชุมไม่มีการพูดถึงการส่งตัวเด็กกลับ มีเพียงว่าให้เด็กไปอยู่ในศูนย์พักพิงของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาจากจังหวัดต้นทาง คือจังหวัดลพบุรีได้สงสัยถึงกรณีที่มีเด็กกลุ่มหนึ่งไปบวชเณรอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง และได้มีการนำเณรเหล่านี้ไปเรี่ยรายหรือไถเงิน ก็ไม่ผิดนัก จึงได้มีการตั้งข้อสงสัยขึ้นมา พอมีข้อสงสัยขึ้นมาจึงได้มีการส่งเด็กกลุ่มนี้กลับจังหวัดต้นทางคือจังหวัดเชียงราย ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ได้ตรวจสอบพบว่า เด็กไม่ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. ตั้งแต่ต้น แต่อยู่ในความดูแลของภาคเอกชนกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเอกชนหลายฝ่ายที่ได้ช่วยกันดูแลเด็กเหล่านี้ และจะต้องเรียนว่าภาคเอกชนนั้น ท่านรู้ตัวดีว่ามีศักยภาพหรือมีอำนาจในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ตามกฎหมายมากน้อยเพียงใด
นายวราวุธ กล่าวว่า ถ้าหากว่าท่านไม่มีอำนาจดังกล่าวขอความกรุณาติดต่อมายังกระทรวง พม. หรือติดต่อมาที่ สายด่วน 1300 แล้วเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ในแต่ละจังหวัด จะรับเด็กเหล่านี้มาดูแลภายใต้สนธิสัญญา CRC และถ้าหากว่าไม่ได้รับความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ขอให้แจ้งมาที่ตน โดยตนจะดำเนินการให้ถึงที่สุดกับเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ที่ไม่ดำเนินการตามกติกา
นายวราวุธ กล่าวว่า อีกทั้งตนขอเรียนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอุทาหรณ์ว่าในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาตะเข็บชายแดน ข่าวลักษณะนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการให้ข่าว เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นขวัญ กำลังใจให้กับเพื่อนๆ ข้าราชการกระทรวง พม. ที่ตั้งใจทำงานและดูแลเด็กเหล่านี้ ดังนั้น ต้องบอกว่าเด็กทุกคนในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด สัญชาติใด อยู่ในสถานะใด ตราบใดที่ยังอยู่บนแผ่นดินไทยแห่งนี้ กระทรวง พม. จะดูแลสวัสดิภาพของเด็กทุกคน ไม่มีนโยบายส่งตัวกลับ ในทางตรงกันข้ามเราจะต้องดูแลเด็กทุกคนให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและสภาพจิตใจ และต้องได้รับการศึกษาที่สมควร ถูกต้องตามวัย
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการขอสัญชาติให้เด็กกลุ่มนี้ ทางกระทรวง พม. มีหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิภาพของเด็กและดูแลการพัฒนาการของเด็ก เพราะว่าภายใต้สนธิสัญญา CRC นั้น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด สถานะใด กระทรวง พม. มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของเขาทั้งกายและใจ และการพัฒนาทางด้านการศึกษา ส่วนเรื่องการจัดส่งตัวเด็กไปยังประเทศที่สามนั้น เบื้องต้นทราบว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำภายใต้การค้ามนุษย์ ดังนั้น วิธีการจะไม่ใช้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) หรือ NRM จะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปว่าจะมีแนวทางดำเนินการกับเด็กกลุ่มนี้อย่างไร ซึ่งอยู่นอกเหนือวิจารณญาณของกระทรวง พม. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของเด็ก แต่ขอยืนยันว่า เมื่อใดที่เด็กอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวง พม. เราจะดูแลเด็กทุกคนอย่างเต็มที่#ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #วราวุธศิลปอาชา #เด็ก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น