เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 67 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ กรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์ และงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ร่วมลงนาม อีกทั้งนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน นอกจากนี้ มีการมอบประกาศนียบัตร ให้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรี อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และบุคลากร พม. ที่เรียนจบหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์”
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้ร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ขับเคลื่อนในการสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับรับมือปัญหาภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อทักษะความฉลาดทางดิจิทัล ภายใต้ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ให้กับบุคลากรของกระทรวง พม. และประชาชนคนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ที่มีภูมิคุ้มกัน สามารถใช้งานสื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ ยกระดับสุขภาวะดิจิทัลให้กับคนไทยที่รู้เท่าทันทุกภัยไซเบอร์ ที่ผ่านมา กระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ดำเนินการทดลองนำร่องการอบรมโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ในกลุ่มบุคลากรของ ผส. และกลุ่มผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลนาพู่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และในวันนี้ จึงได้ร่วมมือกับ AIS ในการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ให้บุคลากรของกระทรวง พม. ประมาณ 11,000 คน ได้เรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะทางดิจิทัล ตลอดจนการขยายผลองค์ความรู้ไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมายคนทุกช่วงวัย เช่น เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในโลกออนไลน์
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอขอบคุณบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กรมสุขภาพจิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ร่วมกันทำโครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ในการที่จะให้ความรู้และปกป้องความปลอดภัยทางด้านทรัพย์สินและอีกหลายหลายมิติให้กับพี่น้องประชาชน วันนี้มิจฉาชีพมีการเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ดังนั้น การมีโครงการเช่นนี้ จะช่วยสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับด้านสุขภาพและด้านดิจิทัลที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือแม้แต่คนวัยทำงานทั่วไป เพราะว่าวันนี้มิจฉาชีพนั้นมีอยู่ทั่วทุกแห่ง และจะมีเทคนิคใหม่ ๆ ในการที่จะหลอกเอาเงินจากบัญชีของพวกเรา ดังนั้น โครงการนี้
จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กับพี่น้องประชาชนในการต่อกรกับมิจฉาชีพทั้งในรูปแบบออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ และเนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จึงจะทำให้เกิดมิจฉาชีพขึ้นมา ดังนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกกลุ่ม และในส่วนของกระทรวง พม. หากประชาชนท่านใดประสบปัญหาตกเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือมายังศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านช่องทาง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และ Line OA “ESS Help Me” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งโครงการนี้จะสามารถเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้ถึงในระดับรากหญ้า และขณะเดียวกันเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ทุกกรม โดยเฉพาะ ผส. สามารถต่อยอดไปยัง อพม. ในทุกพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 350,000 คน ที่จะไปช่วยกันขยายความรู้และป้องกันไม่ให้พี่น้องประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
นายสมชัย กล่าวว่า ทาง AIS ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัล เราได้พัฒนาการเรียนรู้ด้านทักษะดิจิทัลอย่าง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” ที่มีเนื้อหาหลักแกนสำคัญที่ถูกแบ่งออกเป็น 4P 4ป ประกอบไปด้วย Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม, Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์, Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์ และ Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ถูกขยายผลไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผ่านความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่วันนี้ได้เรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้แล้วกว่า 320,000 คน ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ ได้ปรับเนื้อหาของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สอดคล้องกับทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม เช่น การเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานในองค์กร ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ที่ www.learndiaunjaicyber.ais.co.th, แอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER, www.m-society.go.th, www.dop.go.th และแอปพลิเคชัน Gold by DOP#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #อุ่นใจไซเบอร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น