เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดแถลงข่าวแนวนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ประจำปี 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ภายหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ ตลอดจนโครงการและแนวนโยบายในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยก่อนหน้านี้ เพื่อนำมาปรับปรุงและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตนจึงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับพนักงาน คปภ. และได้รับความร่วมมือจากพนักงาน คปภ. อย่างดียิ่ง จึงสามารถกำหนดแนวนโยบายและทิศทางในการกำกับธุรกิจประกันภัยนับจากนี้ให้ออกมาชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
จากข้อมูลการเติบโตของเบี้ยประกันภัยในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจประกันภัยมีความเข้มแข็ง โดยเห็นได้จากการที่ธุรกิจมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน และมีอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต 3.92% ส่วนธุรกิจประกันวินาศภัย มีอัตราการเติบโต 5.16% โดยคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปี 2566 เบี้ยประกันภัยจะอยู่ที่ (891,621 – 927,377 ล้านบาท)
สำหรับแนวโน้มและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อสำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยไทย
มี 7 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน และสถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังถูกพัฒนาและเพิ่มจำนวนขึ้น ประเด็นที่ 2 สังคมผู้สูงอายุและชีวิตหลังเกษียณ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2575 ถือเป็นโอกาสของภาคธุรกิจประกันภัยที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภท ประกันภัยสุขภาพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้สูงอายุ ประเด็นที่ 3 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นอกเหนือจากสังคมผู้สูงอายุที่เป็นปัจจัยเร่งแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ Medical inflation ส่งผลให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสุขภาพ และมีความต้องการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ประเด็นที่ 4 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โจทย์คือทำอย่างไร ธุรกิจประกันภัยจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้การดูแลลูกค้าที่เหมาะสมและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้
ประเด็นที่ 5 การเข้าถึงลูกค้า โดยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เฉพาะบุคคลมากขึ้น ประเด็นที่ 6 การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) และประเด็นที่ 7 การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการออกกฎเกณฑ์และมาตรฐานใหม่ ๆ เช่น PDPA TFRS17 ICPs และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ใน 5 มิติหลัก ๆ คือ มิติแรก การยกเครื่องการกำกับดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยยกระดับมาตรฐานการกำกับความมั่นคงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย อาทิ มุ่งสู่การตรวจสอบเชิงรุก ยกระดับระบบตรวจสอบความเสี่ยงและสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า
การเพิ่มศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย ยกระดับการอนุมัติกรมธรรม์ และส่งเสริมบทบาทของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มิติที่ 2 สร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน โดยกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมุ่งสู่ Consolidation แก้ไขกฎหมายในกลุ่มที่ 2 และ 3 เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจประกันภัย และขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยไปพร้อมกับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยการจัดทำ Service Level Agreement (SLA) ของธุรกิจประกันภัย มิติที่ 3 ผลักดันให้การประกันภัยเป็นกลไกขับเคลื่อนชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนในชาติ “ประชาชนทำประกันภัยด้วยความเชื่อมั่น บริษัทเติบโตอย่างมั่นคง ประเทศมีความมั่งคั่ง”
โดยส่งเสริมให้การประกันภัยเป็น Financial Well-being ของประชาชนทุกคน “ประกันภัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ เข้าถึงง่าย และอยากเข้าถึง” ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปรองรับทุกช่วงการใช้ชีวิตของคนตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ และตาย อย่างตรงจุด ยุติธรรม เต็มไปด้วยคุณค่า และเปิดให้มีการลงทุนประเภทใหม่ของบริษัทประกันภัย ภายใต้หลัก Risk Proportionality มิติที่ 4 ยกระดับประกันภัยไทยให้ก้าวล้ำนำสมัยในระดับสากล โดยเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการประเมินโครงการ Financial Sector Assessment Program หรือ FSAP และผลักดันให้มี Insurance Community หรือ Insurance Institute ระดับนานาชาติ และมิติที่ 5 การสร้างคนให้มีความสามารถอย่างโดดเด่น มีคุณภาพสูง และมีเป้าหมายเดียวกันในการขับเคลื่อนให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย โดยการปรับโครงสร้างการทำงานของสำนักงาน คปภ. ให้เป็น Team-based Structure หรือ Matrix Structure เพื่อให้การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภาพรวมมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้บุคลากรแสดงศักยภาพโดยมุ่งเน้นความสำเร็จของงานผ่านการวางเป้าหมายและวัดผลที่ชัดเจน
เลขาธิการ คปภ. ขอเน้นย้ำว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง รวมถึงสำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย และมุ่งหวังให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีบริษัทที่อาจมีความเสี่ยงด้านฐานะและความมั่นคงทางการเงิน สำนักงาน คปภ. จะใช้มาตรการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ สั่งให้บริษัทวางเงินสำรองเพิ่มเติมให้ครอบคลุมกับภาระหนี้สินที่มีต่อผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
“ในช่วง 4 ปี นับจากนี้ไป ผมอยากเห็นอุตสาหกรรมประกันภัยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของประชาชนอย่างยั่งยืน และสนับสนุนประกันภัยให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการบริหารความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น