เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของเขต ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร เขตสายไหม ว่า เขตสายไหมเป็นเขตสำคัญที่มีประชากรเป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ (รองจากเขตคลองสามวา) โดยมีพื้นที่ 44.615 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 209,556 คน จะเห็นว่ามีประชาชนย้ายมาอยู่ในพื้นที่นี้จำนวนมาก ปัญหาหลัก ๆ ของเขตนี้ คือสิ่งที่เตรียมไว้ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เข้ามาอยู่ เช่น เรื่องถนนหนทาง การที่มีหมู่บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งดำเนินการในการหามาตรการ รวมทั้งขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ ก็มีน้อย จึงได้ให้ท่านรองผู้ว่าฯ วิศณุ ไปดูเรื่องการแก้ไขปัญหาจุดฝืดต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ได้แจ้งมาว่าให้มองเรื่อง Park and Ride (จุดจอดแล้วจร) ให้เยอะขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถจอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าได้ในราคาถูก แล้วโดยสารรถไฟฟ้าไป-กลับได้สะดวก รวมทั้งอาจจะใช้จักรยานเป็นตัวเชื่อม เช่น เพิ่มที่จอดจักรยานบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ตอนนี้เราทดสอบถนนเทพรักษ์ให้เป็นถนนที่มี Bike Lane บนทางเท้า ลดปริมาณรถที่จะเข้าสู่ถนนใหญ่ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายหลักที่ทางรัฐบาลแจ้งมาว่าต้องคิดให้ละเอียดขึ้นเพื่อลดปริมาณรถยนต์ที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพราะเรื่องการจราจรเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ
ส่วนเรื่องน้ำท่วม เขตสายไหมมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 แห่ง ซึ่งปีที่แล้วเราแก้เสร็จแล้ว 2 แห่ง และปีนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าทั้ง 14 แห่ง จะดีขึ้น แต่ยังมีจุดหลักที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเพราะเป็นจุดที่มีพื้นที่ต่ำ เช่น บริเวณถนนวัชรพล ซึ่งจะต้องมีการปรับถนนต่อไป แต่ภาพรวมสถานการณ์ก็ค่อนข้างดีขึ้น
อีกเรื่องที่ต่อเนื่องจากการที่มีประชากรเพิ่มขึ้น คือเรื่องระบบสาธารณสุข เราไม่มีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครอยู่ในพื้นที่เขตสายไหม คนในพื้นที่จึงต้องไปใช้โรงพยาบาลภูมิพล อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่เขตจะมีศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 2 แห่ง โดยมี ศบส.61 เป็นศูนย์ฯ หลัก และศูนย์ฯ ย่อยอยู่แถวออเงิน ซึ่งเรามีโครงการพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 2 แห่งให้ดีขึ้น โดยอาจจะทำศูนย์ฯ ย่อยให้เป็นศูนย์หลัก แล้วพัฒนาศูนย์ฯ หลัก ให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกัน เรามีพื้นที่อยู่ 20 ไร่ที่มีประชาชนบริจาคให้ ก็จะพิจารณาว่าจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติมไหม ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะบริเวณนี้มีประชากรมากกว่า 2 แสนคน รวมกับคลองสามวาซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ก็มีประชากรกว่า 2 แสนคนเหมือนกัน ซึ่งจำนวนประชากรเทียบเท่าจังหวัดจังหวัดหนึ่ง หากเราสามารถเพิ่มระบบสาธารณสุขให้กับประชาชนได้ก็น่าจะทำให้ประชาชนมีความอุ่นใจมากขึ้น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวด้วยว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พบมากคือเรื่องขยะ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ในช่วงแรกการเก็บขยะทำได้ไม่ดี จากเป้าหมายที่เรากำหนดไว้ว่าทุกจุดในเขตต้องเก็บได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วงประมาณ 2 เดือนที่แล้ว น่าจะเก็บได้แค่ 20% แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการปรับปรุงการจัดเก็บขยะ ซึ่งทำให้การจัดเก็บขยะ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพิ่มมาเป็นกว่า 90% เกือบ 100% ของพื้นที่ ถือว่า ผอ.เขต มีการทำงานที่เข้มแข็ง โดยประสานงานและนำทรัพยากรต่าง ๆ มาลงเพิ่มเติมเพื่อทำให้การจัดเก็บขยะในพื้นที่ดีขึ้นได้
ภายหลังการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับบุคลากรของเขตสายไหม จำนวน 5 คน ได้แก่ นางสุนันท์ ทวีประยูร ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) บ2 ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ นางสาวนิภาพร ปิยะทัศน์ ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (กวาด) ฝ่ายรักษาฯ นางน้ำอ้อย วังหิน ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานสวนสาธารณะ บ2 ฝ่ายรักษาฯ นายอนันต์ บุญถนอม ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (เก็บขนมูลฝอย) ฝ่ายรักษาฯ และนายพิศาล มิสา ลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ) บ2 ฝ่ายโยธา ซึ่งการรับประทานอาหารร่วมกันนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อพูดคุยกับบุคลากรอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน สอบถามเรื่องทั่วไป รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ และให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขอบคุณที่ร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติอีกด้วย
จากนั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พร้อมคณะผู้บริหารกทม. และผู้บริหารเขต ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหา พบปะพูดคุยกับประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่เขต ประกอบด้วย ชุมชนเกาะแก้ววิลล่า จุดเสี่ยงน้ำท่วมซอยเพิ่มสิน 20 ซึ่งได้มีการเชื่อมท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ที่ปากซอยเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม บริเวณหน้าที่ทำการชุมชนเพิ่มสินทรัพย์ ปากซอยเพิ่มสิน 15 ตรวจความคืบหน้าก่อสร้างสวน 15 นาที ที่ กสบ. เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้เกษตรคนเมือง ตรวจเส้นทางจักรยาน ตรวจจุดก่อสร้างทางเข้าเส้นทางลัดใต้ทางด่วนฉลองรัช บริเวณใต้ทางด่วน ปากซอยสุขาภิบาล 5 ซอย 35/1 ตรวจจุดก่อสร้าง ทางออกเส้นทางลัดใต้ทางด่วน ที่ถนนจตุโชติ และตรวจเยี่ยมชุมชนพรพระร่วงพัฒนา สุขาภิบาล 5 ซอย 32
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น