ปิดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ผลักดัน ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการ’ ยกฐานะกองทุน - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2566

ปิดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ผลักดัน ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการ’ ยกฐานะกองทุน


พอช./ ปิดงานสัมมนา ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาคเตรียมขับเคลื่อนต่อหลายประเด็น เช่น การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการของชุมชน ยกฐานะกองทุนสวัสดิการให้เป็นนิติบุคคลเพื่อสามารถทำนิติกรรมต่างๆ การลงทุน ทำวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีรายได้ดูแลสมาชิกและกองทุนให้เติบโตยั่งยืน ด้าน ‘อนุกูล ปีดแก้ว’ ปลัดกระทรวง พม.แนะกองทุนสวัสดิการต้องทำงานเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อให้งานเดินไปได้เร็ว

ระหว่างวันที่ 13-14 กันยายนนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค ร่วมกับ พอช. และภาคีเครือข่าย จัดงาน ‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน

โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนและกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมสวัสดิการชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมงาน และกล่าวถึงบทบาทของกระทรวง พม.ในการสนับสนุนให้สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือการสร้างความมั่นคงของมนุษย์

‘Rebranding สวัสดิการชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’


นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวเปิดการสัมมนา มีใจความว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 พี่น้องประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงคิดเรื่องระบบสวัสดิการรองรับภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงเริ่มทำเรื่องสวัสดิการชุมชนขึ้นมา และมีพัฒนาการเป็นลำดับเรื่อยมา โดยชุมชนสมทบ 1 ส่วน รัฐบาล 1 ส่วน

จนถึงปี 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนได้ จนกลายเป็นการสมทบ 3 ขา ต่อมาในปี 2554 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีนโยบายให้ อปท.ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน จนกองทุนสวัสดิการเติบโตเฟื่องฟู

ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ 5,900 กองทุน สมาชิกประมาณ 8 ล้านคน (เป้าหมายที่วางเอาไว้ 15 ล้านคน) มีเงินสะสมประมาณ 20,000 ล้านบาท เป็นเงินของพี่น้องประชาชนประมาณ 14,000 ล้านบาท หรือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินที่รัฐบาลสมทบมีประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์

นอกจากเป็นเงินที่มาดูแลสวัสดิการกันเองแล้ว ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤต เกิดภัยพิบัติต่างๆ เงินกองทุนเหล่านี้คือคลังของประชาชนที่นำมาใช้ได้ทันท่วงที เช่น น้ำท่วมปี 2554 เกิดน้ำท่วมภาคเหนือ กรุงเทพฯ ภาคที่ไม่ท่วมก็รวมตัวกันไปช่วยพื้นที่น้ำท่วม นอกจากนี้เมื่อเกิดโควิด-19 ในปี 2563 ความชุลมุนต่างๆ เกิดขึ้น แต่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นสามารถรับมือกับโควิดได้ เช่น ใช้เงินกองทุนสวัสดิการชุมชนมาทำหน้ากากผ่อนามัย ตั้งด่านคัดกรองคนเข้าชุมชน ทำอาหารให้คนที่ต้องกักตัว ฯลฯ

“นี่คือสิ่งพิสูจน์ว่า สวัสดิการชุมชนไม่ใช่เรื่องสวัสดิการอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นภูมิคุ้มภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วยคุ้มครองพี่น้องที่ได้รับผลกระทบต่างๆ” นายกฤษดา ผอ.พอช.กล่าว

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการสมทบเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบ 3 ขา คือ ชุมชน รัฐบาล และ อปท. และมีภาคธุรกิจอยากเข้ามาร่วมสมทบ ล่าสุด พอช.ได้รับเชิญจาก BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ให้ไปคุยเรื่องการพัฒนาชุมชนของประชาชนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อให้ภาคธุรกิจรับรู้ และหากมีการสนับสนุนเงินมาพัฒนาชุมชนผ่าน BOI ภาคเอกชนก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 200 % รวมทั้งการเจรจากับกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชนที่จะมาสนับสนุนชุมชนต่อไป

ขณะเดียวกัน มีกองทุนสวัสดิการชุมชนหลายแห่งที่ยืนอยู่บนขาของตัวเอง โดยการทำวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำรายได้เข้าสู่กองทุน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ จ.กำแพงเพชร ทำปั๊มน้ำมัน ปุ๋ยอินทรีย์ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง หากรัฐบาลไม่สมทบก็สามารถอยู่ได้ หรือที่ จ.ภูเก็ต ทำวิสาหกิจขายข้าวสารกับเกษตรกรที่ จ.ชัยภูมิ โดยเอาข้าวสารมาขายที่ภูเก็ต หักรายได้ร้อยละ 2 เข้าสู่กองทุนสวัสดิการชุมชน

ในตอนท้าย ผอ.พอช. กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนจำเป็นจะต้องมีกฎหมายให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนิติบุคคล เพราะกองทุนจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาจะมีเงิน มีทรัพย์สิน เช่น ซื้อที่ดินปลูกไม้ยืนต้น เป็นทรัพย์สินที่กองทุนสวัสดิการฯ ถือครอง แต่หากไม่เป็นนิติบุคคล แล้วใช้กรรมการจดทะเบียน เป็นทรัพย์สินร่วมของกรรมการ แต่ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหา เมื่อกรรมการเสียชีวิตจะทำอย่างไร ?

“หรือในอนาคตอาจจะมีการลงทุนข้ามกองทุนสวัสดิการฯ บางกองทุนอาจมีทรัพยากรน้อย อาจจำเป็นต้องเอาเงินของกองทุนตัวเองไปฝากกองทุนที่ใหญ่กว่า เพื่อนำผลตอบแทนกลับสู่กองทุนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องผลักดันการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.สวัสดิการสังคม หรือการมีกฎหมาย มี พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชนเป็นของตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนที่มีความพร้อมยกฐานะเป็นนิติบุคคล” ผอ.พอช.กล่าว

เวทีเสวนา ‘สวัสดิการชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน’

เวทีเสวนา “สวัสดิการชุมชนเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน” ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร. จิตติ มงคลชัยอรัญญา ที่ปรึกษากรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนภาคีหน่วยงานต่างๆ

ผศ.ดร. จิตติ กล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน เราจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ? เราจะต้องรีแบรนด์กันเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยน โลกรวน สงคราม การแข่งขันทางการค้า สังคมสูงอายุ เด็กเกิดน้อย ใครจะดูแลประเทศนี้ถ้าคนทำงานเหลือน้อยลง คนที่จะรอรับสวัสดิการสูงขึ้น และทุกยุคทุกสมัยมีแต่นโยบายประชานิยม รัฐบาลยุคถัดไปถ้าไม่ทำประชานิยมก็จะไม่ได้คะแนนเสียง ประชานิยมก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่จะบริหารจัดการอย่างไร ? ให้การเงินการคลังไปได้ ไม่มีหนี้สินให้คนรุ่นหลัง ไม่ขาดงบดุลการเงินการคลัง

นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการที่ดำเนินการมามีหลักคิด หลักการที่สำคัญ ที่จะทำให้กองทุนยั่งยืน คือ 1. การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน แม้จะแค่ 1 บาท แต่จะต้องร่วมคิดด้วย 2. ทุกคนต้องเป็นเจ้าของ ทั้งทางตรงและอ้อม 3. คนทุกกลุ่มต้องใช้ประโยชน์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นก็ได้ เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติต้องดูแลทุกคน และกลุ่มเปราะบาง

4. เปิดเผยโปร่งใส ให้คนทุกกลุ่มเข้าไปดูได้ในเชิงบริหาร 5. ต้องพึ่งตนเอง ต้องเริ่มจากตัวเอง 6. การทำงานแบบจิตอาสา 7. มีโปรแกรมการทำงาน โดยการลงทุนจากพี่น้องกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนละ 500 บาท เพื่อทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์บริหารกองทุน 8. ทำงานแบบเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ส่งต่อเคสต่างๆ เช่น ส่งต่อ พม. สาธารณสุข

นางสาวศรี ศรีงาม ผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์’ กล่าวว่า การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนจากมุมมองของสภาพัฒน์ ซึ่งวางกรอบการพัฒนาประเทศ เราหนุนเสริมการจัดสวัสดิการทางสังคม ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยบรรจุไว้ในแผนระดับต่างๆ เช่น แผนระดับที่ 1 บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 10 การสร้างความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ สังคม เสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชนในการบริหารจัดการตนเอง ให้สมาชิกในชุมชนมีจุดร่วม เสริมสร้างพลังทางสังคม ให้เกิดการจัดองค์กรชุมชน

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ประเด็นที่ 17 การสร้างหลักประกันทางสังคม ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชนให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การลดความยากจนข้ามรุ่น การยกระดับความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย แผนพัฒนาประชากร เป็นแผนที่สภาพัฒน์ทำเอง เป็นแผนระยะยาว ใช้ถึงปี 2580 มี 6 ยุทธศาสตร์ คือ

เกิดอย่างมีคุณภาพ อยู่อย่างมีคุณภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แก่และตายอย่างมีคุณภาพ การยกระดับ คุ้มครองทางด้านการเงิน พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีคุณภาพ พัฒนาระบบการจัดสวัสดิการชุมชนให้มีคุณภาพ ปรับลดสิทธิประโยชน์ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับภาครัฐ ยกระดับคุณภาพของกองุทนให้มีฐานะทางกฎหมายมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาสวัสดิการชุมชน 5 ปี ให้มีการจัดระบบข้อมูล หรือเชื่อมโยงข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นระบบ

“สภาพัฒน์สนับสนุน เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายสวัสดิการชุมชนโดยตลอด ถอดบทเรียน หาตัวอย่างดีๆ การบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนที่ดีเป็นอย่างไร ? มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เช่น ไปถอดบทเรียนที่บ้านมั่นคงชุมแพที่จังหวัดขอนแก่น และที่ตำบลคลองหินปูน จังหวัดสระแก้วของผู้ใหญ่ละอองดาว กองทุนสวัสดิการชุมชนสามารถเชื่อมโยงไปพัฒนามิติอื่นๆ เช่น ของผู้ใหญ่ละอองดาวเชื่อมโยงถึงมิติสุขภาพ เราจะนำไปวิเคราะห์และเสนอเป็นนโยบายว่าเราจะขยายผลอย่างไร ?” ผู้แทนสภาพัฒน์กล่าว

นางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีหน้าที่ส่งเสริมและลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการเข้าถึงการเงินของประชาชนเป็นหลัก การพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เรื่องหนี้เป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ การเข้าถึงการเงินชุมชน องค์กรการเงินชุมชน ไม่ได้เป็นนิติบุคคลในปัจจุบัน เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ทำให้พึ่งพาเฉพาะกลุ่มบุคคล ทำธุรกรรมไม่ได้ เพราะพึ่งพาส่วนบุคคล ทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย กระทรวงการคลังมีการตรา พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ทำให้องค์กรการเงินชุมชนยกระดับเป็นนิติบุคคลได้

เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต วิสาหกิจชุมชนที่ให้บริการทางการเงิน จะได้การดูแลจากธนาคารออมสินและ ธกส. ระบบการเงินต่างๆ เป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของสถาบันการเงิน การดำเนินงานมีมาตรฐานมากขึ้น มีการส่งงบการเงินทุกปี สำรองเงิน จัดชั้นสินทรัพย์ ให้เทคโนโลยีกับสถาบันการเงิน ยกระดับองค์กรการเงินชุมชนให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมี 14 แห่ง Pico finance สินเชื่อระดับจังหวัด ออกมาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ขอกู้ฉุกเฉิน ลดต้นลดดอก แบบมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ แบบ pico ไม่เกิน 50,000 บาท pico plus 50,000 – 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.6 % ต่อปี กระทรวงการคลังจะต้องอนุมัติจึงจะเปิดได้ มีการส่งงบการเงินให้กระทรวงการคลังได้ตรวจ


ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงภาพรวมนโยบายหลัก การแก้หนี้สำคัญ อิงจาก 5 มิติ คือ 1. จริงจังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2559 -ปัจจุบัน ดำเนินคดีเจ้าหนี้หมื่นกว่าราย 2. เพิ่มช่องทางการมีสินเชื่อให้ประชาชน เช่น pico finance ทั่วประเทศมี 1,100 รายให้บริการ นครราชสีมา กรุงเทพฯ ขอนแก่น 3 อันดับแรกที่มีมากที่สุด

3. ช่วยลดหนี้ การไกล่เกลี่ยและประนอมหนี้ มีกรรมการประจำจังหวัด มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ถ้าเรามีหนี้เราไปติดต่อออมสิน ธกส. ศูนย์ดำรงค์ธรรม อัยการ 4. เพิ่มศักยภาพ มีอนุกรรมการพัฒนาศักยภาพด้านรายได้ของลูกหนี้นอกระบบ ใช้กลไกของหน่วยงานในจังหวัด 5. ส่งเสริมกระตุ้นให้องค์กรการเงินชุมชนมีศักยภาพในการแก้ไขหนี้นอกระบบ มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเรื่องหนี้นอกระบบ

นายกรวุฒิ บรรยงวรพินิจ ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ตั้งแต่มีมติ ครม.ให้สนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน กระทรวงมหาดไทยก็ได้ซักซ้อมการดำเนินการ แนวทางการสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ท้องถิ่นสนับสนุนการดำเนินงาน อปท.มีความเป็นอิสระ เรามีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน หลังจากออกหนังสือไปมีข้อทักท้วงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า ท้องถิ่นไม่สามารถตั้งงบประมาณสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ เนื่องจากไม่มีระเบียบรองรับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจึงตั้งระเบียบขึ้นในปี 2561 แต่ไม่ครอบคลุมกองทุนสวัสดิการชุมชน จึงได้แก้อีกครั้งในปี 2563 เพื่อให้สมทบได้ โดยแก้นิยามของคำว่า ‘กองทุน’ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพ กองทุนสวัสดิการชุมชน

นางสาวธิดาพร เสาวนะ ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. กล่าวว่า ระบบสวัสดิการของประเทศเรามีสำหรับทุกกลุ่ม แต่การเข้าถึง ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม สวัสดิการชุมชนเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม เพราะโหนดที่สำคัญคือครอบครัว การให้เงิน บางครอบครัวอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เช่น การให้เงินเด็ก ผู้สูงอายุ แต่คนดูแลเด็ก คนดูแลผู้สูงอายุไม่ได้ จากงานสมัชชา พบว่า โหนดที่สำคัญคือครอบครัว การรีแบรนด์ในเรื่องนี้ ต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง คนในสังคมจะสามารถเอาพ่อแม่ คนแก่ไปฝากใครไว้ได้ ในขณะที่เขาออกไปทำงาน
“งบที่สวัสดิการรัฐพุ่งไปแบบแยกส่วน แก้ปัญหาได้ไม่ครบ เช่น ช่วยผู้สูงอายุ เงินพุ่งไปที่คนๆ นั้น แก้ปัญหาไม่ได้ แต่สวัสดิการชุมชนแก้ปัญหาเรื่องค่ารถไปหาหมอ คนเฝ้าไข้ นี่เป็นการรีแบรนด์อย่างหนึ่งที่เราต้องพูดให้ชัด สวัสดิการชุมชนอยู่ในข้อที่ได้เปรียบแต่ต้องใช้ให้เป็น” ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมฯ กล่าว และว่า สิ่งที่ควรจะพัฒนาต่อไป คือ การทำให้เกิดมาตรฐานกองทุน และทำให้ทุกกองทุนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อเข้าถึงแหล่งทุน ตัวกองทุนต้องเข้มแข็ง เวลาไปคุยกับแหล่งทุนจะง่ายขึ้น และทำอย่างไรที่กองทุนสวัสดิการจะเชื่อมกับท้องถิ่นได้ กองทุนจะเข้าหาท้องถิ่นได้อย่างไร ?

นายแก้ว สังข์ชู ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวในตอนท้ายว่า ถ้ารัฐไม่สมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน เราจะให้รัฐดูแลเรื่องอะไร ? เราต้องการให้รัฐรับรองสถานะขององค์กร สามารถไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย

“รัฐไม่สมทบก็ได้ แต่ต้องส่งเสริมให้กองทุนเข้มแข็ง และคนทั่วไปยังมองว่ากองทุนสวัสดิการเหมือนกับกองทุนฌาปนกิจ เราต้องทำให้เห็นว่าเราส่งเสริมอาชีพด้วย ลงทุนทำอย่างอื่นด้วย เช่น ดูแลการจัดการขยะ ส่งเสริมให้ครัวเรือนจัดการขยะ กองทุนสวัสดิการสามารถทำเรื่องปลูกต้นไม้ การดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น” นายแก้วกล่าว


‘อนุกูล ปีดแก้ว’ ปลัด พม. แนะเชื่อมโยงการทำงานทุกภาคส่วน

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในหัวข้อ “แนวทางการสนับสนุนให้สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงของมนุษย์” มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า กระทรวง พม. มีหน้าที่ดูแลคนทุกช่วงวัย และครอบครัว เราทำกับคนด้อยโอกาส ในชุมชนเรามีคนกลุ่มนี้อยู่ เป็นภาระของกลุ่มอื่น ส่วนที่สอง ระบบคุ้มครองทางสังคม สวัสดิการชุมชนเป็นระบบหนึ่ง เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมองในระยะยาว คำว่า “ถ้วนหน้า” เป็นเรื่องท้าทาย สวัสดิการชุมชนแยกส่วนตามศักยภาพ

ส่วนที่สาม หุ้นส่วนทางสังคม ให้เราไปทำงานกับคนอื่น ทำกับมหาวิทยาลัย ต่างชาติ ภาคีภาคธุรกิจ ทำให้กระทรวงเราได้เงินน้อย การสร้างความร่วมมือและแบ่งทรัพยากรไม่ง่าย เราจะต้องมาคิดกันใหม่จะทำอย่างไรกับกลไกรัฐ ส่วนที่สี่ องค์กร เจ้าหน้าที่ การไม่เข้าถึงเทคโนโลยี ก้อนหุ้นส่วนกระทรวงพม.เป็นหน้าที่สำคัญ

“การทำงานสวัสดิการชุมชนทำอย่างไรให้เชื่อมร้อยกันในแต่ละพื้นที่ เราลุกขึ้นมาทำงานทำให้เสียโอกาสทำงานของเรา ทำอาชีพของเรา เราไม่สามารถกำหนดชัยชนะทั้งหมดได้ สวัสดิการชุมชนต้องทำให้มีศักยภาพ กองทุนสวัสดิการชุมชน 5,900 กองทุน มีเงิน 20,000 ล้านบาท ต้องไปโยงกับทิศทางรัฐบาล เราต้องไปเชื่อมกัน กองทุนพัฒนาประเทศ เป็นโอกาสของเรา เรื่องหนี้ครัวเรือน เราต้องวิเคราะห์ในชุมชนเรา ต้องหยิบโจทย์ให้ตรงกับทิศทาง” นายอนุกูลกล่าว

ปลัดกระทรวง พม.ยังกล่าวถึงการทำงานเรื่องสวัสดิการชุมชนให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาคีต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานในกระทรวง พม.เอง เช่น ในระดับจังหวัด ต้องให้ทีม พม.ในจังหวัดมาทำความเข้าใจ การไม่รู้ภารกิจของกันและกัน เป็นอุปสรรค การเข้าใจสวัสดิการชุมชนไม่เท่ากัน มองกันคนละแบบ นอกจากนี้จะต้องเชื่อมกับกลไกอื่นๆ เช่น อาสาสมัคร สภาเด็ก องค์กรสาธารณประโยชน์อื่นๆ เชื่อมการทำงานกันให้ได้

นอกจากนี้ การดูแลเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ต้องทุ่มงบประมาณลงไปในเรื่องนี้ กองทุนสวัสดิการสามารถเข้ามาดูแลในส่วนนี้ได้ ชุมชนต้องจัดการและร่วมกันดูแลเด็กได้ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน สวัสดิการชุมชนลุกขึ้นมาพูดเรื่องยาเสพติดอย่างชัดเจน เรื่องคุณภาพคน ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เป็นโจทย์ที่เราสามารถนำมาแก้ไข ทำระบบการดูแลในชุมชน แต่กระทรวง พม. มหาดไทย รัฐบาล ต้องทำอย่างไร ? มาช่วยอย่างไร ? ผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน ?

“กระทรวง พม. มีหน่วยงานในพื้นที่จะได้นำมาร่วมกันพัฒนาไปด้วยกัน รวมถึงกองทุนอื่นๆ เช่น กสศ. สปสช. สสส. สามารถนำมาทำงานด้วยกันได้ ต้องเข้าใจธรรมชาติการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ และเข้าให้ถูกวิธี ทำงานร่วมกัน จะทำให้งานเดินไปได้เร็ว” นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวทิ้งท้าย

ก้าวต่อไปของกองทุนสวัสดิการชุมชน

นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ เลขานุการเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค กล่าวถึงการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า จากการรวบรวมและประมวลเป้าหมายการดำเนินงานของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั้ง 5 ภาค พบว่า มีเป้าหมายดังนี้ คือ 1.ต้องการให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรหลักที่รองรับโครงสร้างทางสังคม 2.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้รองรับการแก้ไขปัญหาความยากจนของสมาชิกและผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน 3.พัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นมืออาชีพ เกิดความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอก และ 4.สร้างเครือข่ายสวัสดิการชุมชนทุกระดับ


ส่วนเป้าหมายหลักสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานสวัสดิการชุมชน มี 3 เป้าหมาย คือ 1.สวัสดิการชุมชนสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 2.สวัสดิการชุมชนเป็นสวัสดิการทางเลือก และ 3.กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแกนหลักในการจัดสวัสดิการชุมชนให้คนในพื้นที่ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย เช่น 1.การพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล 2.การพัฒนาเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ระดับจังหวัด ภาค และประเทศ 3.การพัฒนาความรู้และนวัตกรรม ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาสวัสดิการชุมชนในช่วง 1-3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) เช่น 1.การผลักดันให้รัฐสมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนมากกว่ากองทุนละ 3 ครั้ง 2.การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการของชุมชน เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนมีกฎหมายรองรับ มีสถานะเป็นนิติบุคคล 3.การลดหย่อนภาษีให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่สมทบงบประมาณเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชน 4.ความร่วมมือกับกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุน สปสช.ตำบล ฯลฯ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น