สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังร่วมกับ สศก. GISTDA และ NECTEC ลงนาม MoU เพื่อนำเทคโนโลยีเสริมความแข็งแกร่งประกันภัยพืชผลทางเกษตรแบบครบวงจร พร้อมช่วยยกระดับภูมิคุ้มกัน ด้านความเสี่ยงภัย - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566

สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังร่วมกับ สศก. GISTDA และ NECTEC ลงนาม MoU เพื่อนำเทคโนโลยีเสริมความแข็งแกร่งประกันภัยพืชผลทางเกษตรแบบครบวงจร พร้อมช่วยยกระดับภูมิคุ้มกัน ด้านความเสี่ยงภัย


เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 4 หน่วยงาน รวมถึงสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาทิ ประกันภัยข้าวนาปี (ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2565 ระบบประกันภัยเข้ามาเยียวยาความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี มากกว่า 12,814 ล้านบาท) ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันภัยพืชผลอ้อย โดยใช้ดัชนีความแห้งแล้งตรวจวัดด้วยดาวเทียม นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดไปยังพืชผลชนิดอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรของประเทศ โดยร่วมกับธุรกิจประกันภัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประกันภัยสวนยางพารา และประกันภัยโคนม โคเนื้อ เป็นต้น และมีประกันภัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ประกันภัยกล้วยหอมทอง ประกันภัยส้มเขียวหวาน ประกันภัยมันสำปะหลัง ประกันภัยมันฝรั่ง และประกันภัยกาแฟ เป็นต้น รวมทั้ง สำนักงาน คปภ. ได้เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยการเกษตร มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัยการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจนมีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านการเกษตรที่มีความหลากหลายมากขึ้น


ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียน ที่ให้ความคุ้มครองคือ ความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ เช่น ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การหักลำต้นโดยสัตว์ เป็นต้น และมีกรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (กรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน) โดยให้ความคุ้มครอง ความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ นอกจากนั้น กรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษยังให้ความคุ้มครองความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนอันเกิดจากภัยลมพายุ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินด้วย




แม้จะมีพัฒนาการในเรื่องประกันภัยพืชผลทางเกษตรอย่างมาก แต่ pain-points ในเรื่องนี้คือ การขาดข้อมูล สถิติที่ครบถ้วน แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตรงความต้องการอย่างแท้จริงของเกษตรกร รวมทั้งประสบปัญหาความแม่นยำในการประเมินความเสียหายต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย ดังนั้น การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร มาใช้ในการสำรวจภัยของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรจะเป็นการนำร่องในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT และระบบภูมิสารสนเทศ GIS เทคโนโลยีที่สามารถวัดความเร็วลม โดยจะมีการนำ “ความเร็วลม” มาประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย




นอกจากนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวยังถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือที่สำนักงาน คปภ. และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร ในการผลักดัน และพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จากที่ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร เมื่อปี 2564


สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือที่ทั้ง 4 หน่วยงาน จะขับเคลื่อนร่วมกันมี 4 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านแรก ความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดทำ รวบรวม จัดเก็บ และสืบค้นข้อมูลร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลทางวิชาการ ผลงานวิจัย การประเมินผล การจัดกิจกรรมทางวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตร ด้านที่ 2 ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล ข่าวสาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตร เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ วิจัย และประเมินผล สำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารและการปฏิบัติงาน โดยข้อมูลที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบจะมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีการและช่องทางใดให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายเห็นสมควร ด้านที่ 3 ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของทุกฝ่าย ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ และด้านที่ 4 ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System) ในระบบประกันภัยภาคการเกษตรเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในทุก ๆ มิติ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


“การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง 4 หน่วยงาน ในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันประกันภัยด้านการเกษตรในประเทศไทยให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรของเกษตรกรแบบครบวงจรและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น