เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนานำเสนอผลวิจัยหาแนวทางสนับสนุนส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสื่อสู่อาชีพสำหรับเด็กและเยาวชนไทย เรื่อง “นวัตกรรมสื่อ...สู่อาชีพแห่งอนาคต” จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อของเด็กและเยาวชนไทย โดยมีรองศาสตราจารย์จุมพล รอดคำดี ประธานที่ปรึกษา สสดย. และประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และหัวหน้าคณะวิจัย และผู้แทนภาคีเครือข่าย เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนไทยที่ต้องการลดโอกาสในการเกิดปัญหาการใช้สื่อในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สื่อที่กระตุ้นพฤติกรรมรุนแรง พนันออนไลน์ สื่อลามกอนาจาร และการหลอกลวงเด็กไปแสวงประโยชน์ทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น การร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างนวัตกรรมสื่อ สู่ความเป็นอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องมีการระดมทรัพยากรทุกด้าน เพื่อช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าในตนเอง สร้างการยอมรับ และสามารถนำนวัตกรรมสื่อที่ตนเองสร้างขึ้นมาหารายได้เพื่อยกระดับสถานะความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตโดยรวมของสมาชิกในครอบครัวได้
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ผลสรุปจากเวทีเสวนาเพื่อนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อของเด็กและเยาวชนสู่สาธารณะในวันนี้ จะมีการส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายจากเวทีเสวนาแก่ผู้แทนภาครัฐ ภาคการศึกษา และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา สำหรับการสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและข้อมูลทางการตลาด พร้อมทั้งร่วมกับทุกภาคส่วนเปิดเวทีเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชน ได้ทดลองพัฒนาแนวคิดเชิงนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การขยายผลในเชิงธุรกิจได้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อของเด็กและเยาวชนสู่อาชีพแห่งอนาคตต่อไป
รองศาสตราจารย์จุมพล กล่าวว่า ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนมีการใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สื่อออนไลน์มีเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งเนื้อหาสำหรับการเรียนรู้และเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม การหาแนวทางเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์โดยการค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทาง สสดย. จึงได้ริเริ่มออกแบบงานวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า แนวทางในการสร้างนวัตกรรมผ่านสื่อสู่ความเป็นอาชีพเป็นอย่างไร และควรมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาคส่วนต่างๆ อย่างไรบ้าง ในการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้เด็กและเยาวชนไทย หันมาใช้สื่อในทางสร้างสรรค์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอนาคต
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวว่า ผลการวิจัยเรื่องแนวทางการสร้างนวัตกรรมสื่อสู่ความเป็นอาชีพ ของ สสดย. พบว่า ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ครอบครัว และภาคประชาสังคม ควรร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนหันมาใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างนวัตกรรมสื่อ หรือ Media Innovation ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
โดยรูปแบบที่ควรริเริ่มไปพร้อมๆ กันในการสร้างนวัตกรรมสื่ออยู่ความเป็นอาชีพ ได้แก่ การสำรวจสถานการณ์การใช้สื่อและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนานวัตกรรมสื่อ การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมสื่อ การหารายได้ในเชิงธุรกิจ และการพัฒนาต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ซึ่งการสร้างนวัตกรรมสื่อของคนรุ่นใหม่นี้ จึงนับเป็นการนำศักยภาพของการสร้างคุณค่าในตนเองของเด็กและเยาวชนไทย เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง และที่สำคัญคือ สามารถนำนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมานำไปใช้ประโยชน์ และสร้างอาชีพได้ในอนาคต โดยพบว่า ทักษะสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเป็นนวัตกรในโลกแห่งอนาคต เช่น การมีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การยอมรับความเปลี่ยนแปลง การจัดการข้อมูล การคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจ วัฒนธรรมที่หลากหลาย ทักษะทางด้านเทคโนโลยี และทักษะในการสื่อสารระหว่างบุคคล เป็นต้น
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น