เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 66 เวลา 10.00 น. นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยนายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่เยี่ยมและติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กหญิงอายุ 12 ปี และ 4 ปี ที่ถูกพ่อทำร้ายร่างกาย โดยใช้ไฟแช็คลนทั่วร่างกาย อีกทั้งได้มอบตุ๊กตาและสิ่งของเครื่องใช้สำหรับเด็ก โดยมีนายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมลงพื้นที่ ณ บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร
นางสาวกัญจนา กล่าวว่า วันนี้ ตน และคณะฯ ได้มาเยี่ยมและติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กหญิง 2 พี่น้อง อายุ 12 ปี และ 4 ปี ที่ถูกพ่อทำร้ายทั่วร่างกาย หลังจากที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เข้าไปช่วยเหลือ ในขณะที่ พ่อถูกจับกุมตัวที่ย่านบางเขน กรุงเทพฯ เนื่องจากก่อเหตุฆ่าน้องวัย 2 ปี ทั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ได้นำเด็กทั้งสองคนออกมาจากจุดที่เป็นอันตราย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครทำร้ายเด็กได้อีก และให้มาอยู่ในความดูแลของกระทรวง พม. จากนี้ ไป จะดำเนินการรักษาบาดแผล ถึงแม้ว่าน้องคนโตจะไม่มีบาดแผลให้เห็นในปัจจุบันแต่มีร่องรอย ส่วนน้องคนเล็กยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล และขั้นตอนต่อไปคือการฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จากนั้น จะวางแผนอนาคตของเด็กทั้งสองคนว่าจะเป็นอย่างไร จะอยู่ในความดูแลทั้งรูปแบบที่เป็นลักษณะของญาติอุปถัมภ์ หากมีญาติและมีความพร้อมที่จะดูแลเด็กได้ หากดูแลเด็กไม่ได้ก็ดูว่าจะพิจารณาถึงครอบครัวอุปถัมภ์ที่จะรับไปดูแลได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะขั้นตอนฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ แต่หากไม่มีใครดูแลได้เลย ซึ่งจริงๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ต้องอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ ซึ่งตรงนั้นจะเป็นแนวทางที่กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย
นางสาวกัญจนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวนั้น อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนว่า กรุณาอย่ามองว่าเป็นเรื่องของครอบครัวใคร เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้ที่อ่อนแอ เป็นผู้ที่มีเสียงน้อย ถึงแม้ว่าเสียงเขาจะไม่มีพลัง ไม่ดัง แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงจะเป็นผู้ที่รู้และสามารถสังเกตเห็นได้ คอยช่วยเป็นปาก เป็นเสียง ถือว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าไม่ช่วยเหลือกัน ผู้อ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ก็จะเกิดเหตุที่น่าสงสาร เหตุความรุนแรง หากเด็กเหล่านี้รอดพ้นจากการถูกทำร้าย เมื่อโตขึ้น จะเป็นสมบัติที่ชำรุดของสังคม แล้วจะเป็นลูกโซ่ของความรุนแรงและการทารุณ ซึ่งจะไปทำทารุณ เพราะเคยถูกกระทำมาก่อน และจะเป็นมรดกที่ชั่วร้ายของสังคมไทย จึงอยากให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา เราต้องตัดตอนสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราต้องเยียวยาเด็กตั้งแต่ต้น
นางสาวกัญจนา กล่าวด้วยว่า หากพบเห็นผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง ประสบปัญหาเดือดร้อนทางสังคม หรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือมาได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งตั้งแต่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เข้ามาดำรงตำแหน่ง ท่านจะทำให้สายด่วน พม. โทร. 1300 เป็นพลังที่พึ่งของสังคมได้ อีกทั้ง กระทรวง พม. ยังมีระบบ ESS รับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยกดเพิ่มเพื่อน @esshelpme ที่ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสได้อีกหนึ่งช่องทา
พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า เมื่อเราเห็นข่าวความรุนแรงในครอบครัวมักจะเห็นว่าภาคเอกชนจะเข้ามาเป็นตัวเชื่อม แต่ทำไม ภาครัฐจึงไม่เป็นหน่วยงานแรกที่เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทางรองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน อธิบายว่า ภาครัฐได้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นจำนวนมากประมาณร้อยละ 80 เพียงแต่เวลาที่ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลือมักมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จึงไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เป็นผู้รับเรื่องหรือดำเนินการตั้งแต่ต้น เพียงแต่เราทำโดยไม่ได้เป็นข่าว นับเป็นเรื่องที่ดีทั้งภาคพลเรือน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมช่วยกันดำเนินการและแก้ปัญหาร่วมกับภาครัฐ เราร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ใช่ภาครัฐไม่ทำอะไร ถึงแม้ว่าข่าวที่ปรากฏออกมาจะเป็นแต่ภาคเอกชนทำ ซึ่งไม่ใช่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกภาคส่วนช่วยกันทำ เพื่อป้องกันความรุนแรงในสังคม
นายนิกร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ได้มอบนโยบายแล้วว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เพราะความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งจะต้องมีบทบัญญัติที่ครอบคลุม เพื่อที่จะดูแลได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น