“งาน กล้วย กล้วย ใจกลาง เมือง เนสตา กับงานมหกรรมกล้วยหิน และของดีอำเภอบันนังสตา ในวันอาทิตย์ ที่ 17 กันยายนนี้ วันเดียวเท่านั้น” - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566

“งาน กล้วย กล้วย ใจกลาง เมือง เนสตา กับงานมหกรรมกล้วยหิน และของดีอำเภอบันนังสตา ในวันอาทิตย์ ที่ 17 กันยายนนี้ วันเดียวเท่านั้น”


เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ณ ที่ว่าการอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา นายมนตรี เสฏฐปัญโญ นายอำเภอบันนังสตา ขอเชิญร่วมงานกล้วยหิน และของดีบันนังสตา ประจำปี 2566 ซึ่งทางอำเภอบันนังสตาได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่จัดขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นของดีในพื้นที่ให้รู้จักแพร่หลาย เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป อีกทั้งเป็นการขยายฐานตลาดของเกษตรกรผู้ผลิตให้มีความหลากหลายอันนำไปสู่สภาพเศรษฐกิจที่ดีมีคุณภาพ ซึ่งปีนี้กำหนดจัดขึ้นวันอาทิตย์ ที่ 17 กันยายน 2566 ระหว่าง เวลา 8.30-21.30 ณ บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา หลังที่ว่าการอำเภอบันนังสตา

นายมนตรี กล่าวว่า กล้วยหิน เป็นกล้วยป่า พบในธรรมชาติครั้งแรกเป็นจำนวนมากในสภาพอากาศร้อนชื่น บริเวณป่าสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เนื่องจากทำเลทองแห่งนี้มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีความชื่นทั้งในดินและในอากาศสูงตลอดทั้งปี กล้วยหิน 1 เครือ จะมีประมาณ 7-10 หวี เฉลี่ยหวีละ 10-15 ผล กล้วยหินเดิมโตได้ในดินแทบทุกประเภท ทนแล้งได้ดี ลำต้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง แตกกอ ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวนทนทานต่อโรครากเน่า (ตายพราย) มีเปลือกหนาทนทานต่อการขนส่ง และผลแก่เก็บไว้ได้นานนับสัปดาห์ ส่วนต้นอ่อนนำมาปรุงอาหารรสชาติดีกว่ากล้วยน้ำว้า ทั้งนี้ กล้วยหินบันนังสตา ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำกล้วยหินมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าปัจจุบัน กล้วยหินบันนังสตา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : GeographicalIndication) ลักษณะผลส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ผลด้านข้างสุดของหวีทั้งสองด้านมักจะเป็นรูปสามเหลี่ยม เปลือกหนา ผลดิบเปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลือกสีเหลือง เนื้อแน่น ผลดิบเนื้อแข็งสีขาว ผลสุกเนื้อสีขาวอมเหลืองถึงเหลือง ไม่ติดเปลือก กล้วยหิน ยิ่งสุกงอมจะมีรสชาติออกเปรี้ยว ชาวบ้านนิยมนำกล้วยดิบมาแปรรูป เช่น ทำกล้วยฉาบ ส่วนกล้วยสุก หากต้องการบริโภคให้อร่อยต้องทำให้สุกหรือผ่านความร้อนด้วยการต้ม นึ่ง ปิ้ง ย่าง เช่น กล้วยต้ม กล้วยแขก กล้วยบวชชี ข้าวต้มมัด ฯลฯ


นายมนตรี กล่าวต่อว่า กิจกรรมภายในงานปีนี้ ประกอบด้วย การเดินขบวนพาเหรด การจัดนิทรรศการบริการให้ความรู้ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน การประกวดกล้วยหิน การประกวดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง การแข่งขันอาหารแปรรูปจากกล้วยหิน การแสดงศิลปวัฒนธรรมของนักเรียนในพื้นที่ การออกร้านจำหน่วยผลิตภัณฑ์ OTOP การปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สังคมพหุวัฒนธรรม” โดย นายเจะหมีน หะแหละ ตลอดจนการเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ปัญหากล้วย ใครว่ากล้วย" โดย นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา เขต 3 , ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร , นายสุทธิพงศ์ ทองบุญ เกษตรอำเภอบันนังสตา โดยมีนายอิดเร๊ะ สอรี เกษตรกรและปราชญ์ชุมชน และนายกริยา มูซอ เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการแสดงบนเวทีกลางตลอดทั้งงาน อาทิเช่น การแสดงชุดพิเศษ จากนักเรียนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา)อัลดะวะห์ตุลอิสลาเมียะห์ บันนังสตา การแสดงการขับร้องประสานเสียงด้วยกลองกมปัง โดย วง Al-Waton การแสดง และการแสดงชุดพิเศษ จากนักเรียนโรงเรียนบันนังสตาวิทยานุสรณ์ เป็นต้น

“ งาน กล้วย กล้วย ใจกลาง เมือง เนสตา” กับงานมหกรรมกล้วยหิน และของดีอำเภอบันนังสตาที่จะพาทุกท่านไปสัมผัส และรู้จักเรื่องราวของกล้วย และของดีเมืองบันนังสตา ผ่านนิทรรศการ วงเสวนาอีกทั้งเต็มอิ่มไปกับ กิจกรรมมากมาย และร้านค้าต่างๆ ที่คัดสรรมาให้ในงานนี้โดยเฉพาะ ณ บริเวณหอนาฬิกาบันนังสตาในวันอาทิตย์ ที่ 17 กันยายนนี้ วันเดียวเท่านั้น อย่าลืมมาเจอกัน นายมนตรี กล่าวในตอนท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น