เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมฝึกซ้อมอพยพหนีไฟในอาคารศาลาว่ากรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ตามโครงการกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและการอพยพหนีไฟภายในอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยและการอพยพหนีไฟภายในอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
สำหรับวันนี้เป็นการจำลองการเกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณสำนักงานเลขานุการ สำนักการคลัง บริเวณชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตั้งแต่แจ้งเตือนการเกิดเหตุ แจ้งเตือนอพยพคนออกจากอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครไปยังจุดรวมพลที่กำหนดไว้บริเวณลานคนเมือง มีการตรวจเช็คจำนวนสมาชิกแต่ละหน่วยงาน ตรวจสอบผู้ติดค้างภายในอาคารและเข้าช่วยเหลือผู้ติดค้างในอาคาร เจ้าหน้าที่ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุ แจ้งรถพยาบาลฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและส่งต่อการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งการฝึกซ้อมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วยดี ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะมีการจัดฝึกซ้อมการอพยพหนีไฟอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการอพยพหนีไฟกรณีเกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด
ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกซ้อมรองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กำชับสำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดฝึกซ้อมอพยพหนีไฟให้มีการฝึกซ้อมต่อเนื่องทุกปี โดยในครั้งต่อไปให้กำหนดช่วงเวลาเกิดเหตุแทนการแจ้งเวลาเกิดเหตุที่ชัดเจน รวมถึงไม่ต้องแจ้งสถานที่จำลองการเกิดเหตุล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความเสมือนจริงมากที่สุด จะได้ตรวจสอบเวลาที่ใช้ในการอพยพคนออกจากอาคารศาลาว่าการได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
นอกจากนี้ให้มีการตรวจสอบระบบเสียงตามสาย ระบบแจ้งเตือนภัย สัญญาณเตือนภัยว่าสามารถใช้ได้ทุกจุดหรือไม่ รวมถึงระบบกล้อง CCTV ภายในอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครหากเจ้าหน้าที่สามารถเห็นการแจ้งเหตุผ่านทางกล้อง CCTV ในอาคารด้วยก็จะช่วยให้รับทราบกรณีเกิดเหตุได้อีกทาง อีกทั้งสามารถนำข้อมูลจากกล้องมาเป็นข้อมูลในการวางแผนหรือแนวทางการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟครั้งต่อไป และอาจปรับใช้เป็นแนวทางดำเนินการกรณีเกิดเหตุจริงเพื่อป้องกันและช่วยลดความสูญเสียในด้านต่าง ๆ ต่อไป
(พัทธนันท์…สปส. รายงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น