เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคาร 2 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กรุงเทพมหานคร กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดย นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และมูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง โดยนายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพเพื่อส่งเสริมอาชีพของกลุ่มเป้าหมาย โดยนางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และนางรุ่งทิวา สุดแดน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นพยานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหาร พม. มูลนิธิป่อเต๊กตึ๊ง และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
นางจินตนา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพสตรี การส่งเสริมความเท่าเทียม ระหว่างเพศ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพให้กับสตรี ครอบครัว แม่เลี้ยงเดี่ยว และผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นคือกลุ่มสตรีที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งและอดทนในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งการเลี้ยงดูตนเอง และการเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับปัญหาความเครียด และความกดดัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ทั้งความสัมพันธ์กับลูก การบริหารเวลาระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงลูก รวมถึงรายได้เพียงพอ และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกเพียงลำพัง เป็นต้น
ทั้งนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ดำเนินกิจกรรมงานสาธารณกุศล มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง และปัจจุบันยังขยายการช่วยเหลือมาสู่การส่งเสริมอาชีพของสตรี แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จากโครงการ "ส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี" ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ โดยการมอบวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่สตรีที่มีรายได้น้อย มีภาระหน้าที่ดูแลคนในครอบครัว และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยในปีนี้เราได้รับการสนับสนุนโครงการมอบทุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง โดยสนับสนุนตามความต้องการของแม่เลี้ยงเดี่ยว เช่น อาชีพที่เกี่ยวกับอาหาร เสริมสวย เพ้นท์เล็บ มูลนิธิก็จะสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ให้กับกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้วใน 5 จังหวัด ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายของ 7 ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 คน และจะดำเนินการส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ครั้งถัดไป ให้กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มอีก จำนวน 21 คน ณ จังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้
นางจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สค. มีการติดตามประเมินผล หลังจากที่ได้รับอุปกรณ์จากมูลนิธิไปแล้วสามารนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ จะมีการจัดเก็บข้อมูลและรายงานต่อมูลนิธิ การที่มอบอุปกรณ์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว 61 คน ที่ได้รับการคัดเลือก ทำให้เป็นตัวอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจพลังใจให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวคนอื่น ๆ ให้ลุกขึ้นมาประกอบอาชีพสุจริตและไขว่คว้าหาความรู้ พัฒนาตนเองและเลี้ยงดูลูก สค. ได้ช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างครบวงจร ทั้งจิตใจและองค์ความรู้ต่าง ๆ ปัญหาของแม่เลี่ยงเดี่ยวส่วนใหญ่ คือ ด้านสุขภาพกายและใจ ปัญหาการบริหารเวลา และการบริหารการเงิน โดย สค. ให้ทักษะอาชีพ องค์ความรู้ สร้างเครือข่ายให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว นอกจากนี้ยังหาเครือข่ายภาคเอกชนในการสนับสนุนให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถพึ่งพาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายวิเชียร กล่าวว่า บทบาทสำคัญของมูลนิธิคือบรรเทาทุกข์บำรุงสุข ไม่มีการเพศ อายุ ชาติ ศาสนา โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเล็งเห็นถึงความยากไร้ของครอบครัวโดยเฉพาะสตรี และแม่เลี้ยงเดี่ยว สิ่งที่ขาดของมูลนิธิคือบุคลากรมีจำกัด แต่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านการฝึกอาชีพ มูลนิธิจึงเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และร่วมมือกันลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวสตรีที่ยากไร้ โดยโครงการนี้ดำเนินการขับเคลื่อนให้คลอบคลุมทั่วประเทศ
จากความร่วมมือ และความตั้งใจอันดีของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งที่ส่งต่อความช่วยเหลือผ่านการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพเพื่อส่งเสริมอาชีพของกลุ่มเป้าหมายในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการจะร่วมมือกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนเพื่อขยายการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประสบปัญหาทางสังคม ทุกกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต่อไปในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น