เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) รับฟังการนำเสนอมติสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจําปี 2566 โดย
สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมให้ข้อคิดเห็น ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจําปี 2566 โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหาร นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และ Miss Severine Leonardi ผู้แทนองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย ร่วมให้ข้อคิดเห็น
ณ โรงแรม เดอะ บาซาร์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
นายจุติ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2566 จัดขึ้นโดยกระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคม รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนกิจกรรมตามมติสมัชชาเด็กและเยาวชนในระดับพื้นที่ อีกทั้งผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติไปยังผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2566 มีการระดมความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน ผ่านกระบวนการสมัชชา เกี่ยวกับปัญหาสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนใน 6 ประเด็นสำคัญ ซึ่งมีการนำเสนอมติ โดยผู้แทนเด็กและเยาวชน ดังนี้ 1) ประเด็นการศึกษา ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กนอกระบบ 2) ประเด็นเศรษฐกิจ ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาองค์ความรู้การตลาดแรงงานสำหรับเด็กและเยาวชน และส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3) ประเด็นสุขภาพ โดยให้ภาครัฐควบคุมสารเสพติดที่ระบาดในเด็กและเยาวชน และยกระดับศูนย์บริการสุขภาพจิตที่เป็นมิตรแก่เด็กและเยาวชน 4) ประเด็นความรุนแรง ให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการในการแก้ปัญหาความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ทั้งในสังคมออฟไลน์และสังคมออนไลน์ รวมถึงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม 5) ประเด็นสิ่งแวดล้อม ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการออกมาตรการทางภาษีในการส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และ 6) ประเด็นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน โดยต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการกำหนดนโยบาย และการนำส่งรายงาน CRC ต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ ต้องขอบคุณยูนิเซฟ ประเทศไทย ที่สนับสนุนการจัดเวทีรับฟังครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติ จากเด็กคิด เด็กทำ ผู้ใหญ่หนุน ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่ร่วมทำด้วย เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศ ดังนั้น การนำเสนอมติสมัชชาเด็กและเยาวชนฯ ทั้ง 6 ด้าน เป็นมุมมองจากคนรุ่นใหม่ โดยรัฐบาลพร้อมรับฟัง อีกทั้งยูนิเซฟ ประเทศไทย อยากให้เด็กและเยาวชนมีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยกระทรวง พม. จะเชิญผู้ร่วมนำเสนอมติ มาร่วมทำงานกับเรา เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย หลังจากนี้ เชื่อว่าจะมีการทำงานในมิติที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร่วมกับตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนฯ #ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น