กทม. เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง ประสานกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำ ดูแลเกษตรกรฝั่งกรุงเทพตะวันออก...B - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กทม. เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง ประสานกรมชลฯ บริหารจัดการน้ำ ดูแลเกษตรกรฝั่งกรุงเทพตะวันออก...B

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ว่า วันนี้มาประชุมเขตมีนบุรี คลองสามวา ลาดกระบัง เนื่องจากเรากังวลเรื่องภัยแล้งซึ่งดูปริมาณน้ำฝนที่ตกในกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมา มีค่าน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึงประมาณ 38% ก็กังวลว่าพี่น้องที่ทำเกษตรกรอยู่บริเวณกรุงเทพฝั่งตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ วันนี้จึงเชิญกรมชลประทานมาให้ข้อมูล ก็ได้รับข้อมูลว่าน้ำในเขื่อนทั้งจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังพอในการใช้ที่จะแบ่งปันลงมา ยังไม่ต้องกังวลมาก แต่ยังคงมีมาตรการในการเตรียมการรองรับ ซึ่งก็เป็นข่าวที่ทำให้เราสบายใจขึ้น แต่เราก็ไม่ได้ประมาทและมีข้อสั่งการ ภายหลังจากที่ได้ฟังความคิดเห็นของนายกสมาคมชาวนา สภาเกษตรกรในพื้นที่เพราะเราให้ความสำคัญว่าพื้นที่ที่มีเกษตรกรอยู่เยอะและแหล่งเกษตรกรรมสำคัญของกรุงเทพมหานคร

สำหรับข้อสั่งการ เรื่องแรก มอบหมายสำนักการระบายน้ำและกรมชลประทานประสานงานกันอย่างเข้มข้น ทั้งด้านการพยากรณ์ การเตรียมรับมือทั้งภัยแล้งและภัยน้ำท่วม รวมทั้งการอัพเดทวิธีการระบายน้ำ เนื่องจากแผนที่ของกรมชลประทานและสำนักการระบายน้ำมีข้อขัดแย้งกัน ทางสำนักการระบายน้ำเน้นป้องกันน้ำท่วม ด้านกรมชลประทานเน้นเรื่องเกษตรกรรม เป็นคนละบทบาท หลังจากนี้ต้องเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้

เรื่องที่ 2 จัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถตอบ แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มอบหมายสำนักงานเขตหนองจอกเป็นเจ้าภาพและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร สำนักระบายน้ำ กรมชลประทาน มาตั้งเป็นศูนย์ทำงานร่วมกันเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

เรื่องที่ 3 ในพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรกรจะมีข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องน้ำเยอะก็ให้รับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรและนำไปปรับปรุง เช่น มีจุดที่อยากจะให้มีการสูบน้ำจากคลองแสนแสบมาเป็นน้ำต้นทุนในการทำเกษตร แต่ว่าเครื่องปั้มน้ำไปไม่ถึงเรื่องนี้ต้องไปดู หรือคลองบางคลองที่อาจจะมีการเน่าเสีย มีการขุดลอกที่ไม่พอเพียง รวมทั้งการบริหารจัดการทำนบน้ำ

เรื่องที่ 4 การให้ข้อมูลเกษตรกรรมแก่เกษตรกร เช่น เรื่องการปลูก การหว่านเมื่อไหร่ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นรวมทั้งการทำเกษตรทดแทน การปลูกพืชหน้าแล้ง เช่น แตงโม แคนตาลูป ซึ่งก็ได้ราคาดี แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการตลาด ดังนั้นทางกรุงเทพมหานครก็ต้องช่วยเร่งในเรื่องการหาตลาดให้กับพี่น้องเกษตรกร

อีกเรื่องคือ เรื่องเครื่องอัดฟาง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกษตรกรลดการเผา ลดฝุ่น PM 2.5 ถ้าเกษตรกรมีต้นทุนถูกในการมัดฟาง ฟางที่อาจจะขายเป็นอาหารสัตว์หรือเอาไปทำอย่างอื่นได้ แต่ให้เกษตรกรไปเช่าเครื่องอัดฟางเอง ทำให้เกิดต้นทุนและทำให้เขามีแรงจูงใจในการเผามากขึ้น เรื่องนี้ได้สั่งการสำนักพัฒนาสังคมเร่งจัดหาเครื่องอัดฟางมาให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้เพื่อลดการเผาและลดการเกิดฝุ่น PM 2.5

“วันนี้ในภาพรวมก็สบายใจขึ้น ทุกคนก็เข้าใจสถานการณ์ เราก็คิดว่าพี่น้องประชาชนของฝั่งกรุงเทพตะวันออกเป็นเกษตรกรจำนวนมาก เราไม่ได้ละเลยและเราก็ให้ความสำคัญ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

การประชุมวันนี้ นายธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. เขต 18 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายณรงค์ รัสมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสามวา นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง นายชาญชัย พลวิธิต สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี นายวินัย จันทร์ลอย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสายไหม รศ.วิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ผู้แทนกรมชลประทาน สมาชิกสภาเกษตรกร กทม. ผู้แทนเกษตรกร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมศาลาประชาคม สำนักงานเขตหนองจอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น