กทม. ปรับปรุงระบบจัดการสาธารณสุขเขตเมือง พร้อมประสานความร่วมมือและทำแผนป้องกันไข้เลือดออกในพื้นที่....B - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

กทม. ปรับปรุงระบบจัดการสาธารณสุขเขตเมือง พร้อมประสานความร่วมมือและทำแผนป้องกันไข้เลือดออกในพื้นที่....B


เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2566 รวมถึงมาตรการเชิงรุกของกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบ ป้องกัน และเข้าควบคุมโรคอย่างรวดเร็วเมื่อพบผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก ว่า สำนักอนามัยได้ร่วมมือกับสำนักงานเขต ในการพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ อีกทั้งประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย สถานศึกษา ศาสนสถาน ภายในชุมชน และสถานที่ราชการ กิจกรรม ได้แก่ การดำเนินการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง


นอกจากนี้สำนักอนามัยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรม เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูงเพื่อให้ครูและนักเรียนตัวแทนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถป้องกันได้ ต้องเริ่มลงมือปฏิบัติตั้งแต่ตอนนี้ กรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออกด้วยการเฝ้าระวังยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. หรือมาตรการ 3 เก็บ ดังนี้ มาตรการ 5 ป. ได้แก่ 1. ปิด ปิดหรือคว่ำภาชนะเพื่อป้องกันยุงไข่ 2. เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ 3. ปล่อย ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย 4. ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง 5. ปฏิบัติ ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ส่วนมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1. เก็บบ้านไม่ให้รก 2. เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง เป็นต้น










พร้อมกันนี้ มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองและการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เช่น สื่อมัลติมีเดีย แอปพลิเคชัน หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลดหรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนังควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและให้ทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และให้หลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น โดยสำนักอนามัยได้แจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้กับหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาด รวมทั้งมีการอบรมพัฒนาความรู้และจัดการอบรมซ้อมแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที

—————————(พัทธนันท์…สปส. รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น