เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 เวลา 14.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญชวนร่วมงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 “การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการผ่านนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Well-being Promotion for Persons with Disabilities through Innovation and Sustainable Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านวิจัย วิชาการ นวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดโอกาสให้องค์กรคนพิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงสื่อสารความรู้ขององค์กรสู่สาธารณะ ผ่านงานสัมมนาวิชาการในมิติที่หลากหลายมากขึ้น ในวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2566 ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC3) ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนคณาจารย์ สถาบันการศึกษา คณะวิทยากร ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรด้านคนพิการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นหน่วยงานในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ อาศัยฐานความรู้จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาคนพิการในทุกมิติ ทั้งทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงปฏิรูปการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสังคมฐานราก สร้างชุมชน สังคมเข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ บุคลากรทั้งในประเทศ และระดับต่างประเทศ ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดย พก. สถาบันการศึกษา องค์กรด้านคนพิการ และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 74 แห่ง ลงนามภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจดังกล่าวผ่านการพัฒนางานวิชาการ วิจัย นวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวก และการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ซึ่งจะสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน จึงร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2552 โดยได้นำเสนอผลงานวิชาการ งานนวัตกรรม และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มากกว่า 290 เรื่อง ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว จึงเป็นก้าวสำคัญทางวิชาการที่จะสานต่อเจตนารมณ์ต่อยอดการศึกษา วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design) เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการงานด้านคนพิการ เพื่อทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างครอบคลุมทุกมิติ สู่การเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของสังคมไทยต่อไป
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 1) การมอบธงเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาวิชาการฯ ในปี 2567 2) การนำเสนอบทความทางวิชาการ และพิธีมอบเกียรติบัตรและโล่รางวัลการนำเสนอบทความทางวิชาการ และผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการ 3) การบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 หัวข้อ ได้แก่ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Well-being Promotion for Persons with Disabilities through Sustainable Innovation” โดย Mr. Renaud Meyer, UNDP Resident Representative to Thailand และ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “The Social Movement of Disability in the Disruptive World” โดย Mrs.Yukiko Nakanishi (DPI-AP) 4) เวที Ted Talk หัวข้อ "ความเสมอภาคและสิทธิในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนพิการ" โดย ผู้ทรงคุณวุฒิ 5) การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีด้านคนพิการ โดยองค์กรด้านคนพิการ และภาคีเครือข่ายด้านคนพิการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid ซึ่งมีการผสมผสานระหว่าง On site ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC3) ชั้น 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จังหวัดปทุมธานี และช่องทาง Online อาทิ Facebook Live และ YouTube Live เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรด้านคนพิการ คนพิการ และองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านทาง Google Form ที่ลิงก์ https://forms.gle/KQ6MDpnAprBGn28aA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น