เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2566 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2023 ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงสถานะการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยให้อยู่ในเทียร์ 2 “Tier 2″ เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2565 โดยที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศทั้งด้านนโยบาย การป้องกัน การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวง พม. ส่งผลให้การแก้ปัญหาเห็นผลในเชิงประจักษ์มากขึ้น ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่กระตุ้นให้เรายังคงต้องเพิ่มความเข้มแข็งในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลไทยคือการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกา ได้มี 12 ข้อเสนอแนะสำคัญ ดังนี้ 1. การสืบสวนเชิงรุกและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์ และแสวงหาบทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับผู้ค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างมีนัยสำคัญ 2. เพิ่มความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ที่ถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานจากกระบวนการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย ยุติการส่งผู้เสียหายเข้าห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกลงโทษอย่างไม่เหมาะสม 3. ขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) และเปิดใช้ศูนย์คัดแยกผู้เสียหายเต็มรูปแบบ 4. ใช้วิธีการที่เน้นผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและการคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ โดยรวมถึงในระหว่างการสัมภาษณ์ของทีมสหวิชาชีพ และการตรวจแรงงาน 5. เพิ่มการปฏิบัติและความพร้อมของล่ามเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมถึงในที่พักพิงและกระบวนการพิจารณาคดีในศาล 6. เพิ่มการจัดทำวีซ่าเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ 7. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และรับรองการดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และดำเนินการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ 8. เพิ่มความสามารถของผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ในการเข้าและออกจากสถานคุ้มครองได้อย่างอิสระ รวมถึงการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และทบทวนการจัดให้ผู้เสียหายเดินทางเข้าออกและอยู่ในสถานคุ้มครองเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายอยู่ในที่สถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น 9. กำหนดให้สถานคุ้มครองของรัฐและนอกภาครัฐดูแลผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและให้การดูแลผู้เสียหายเป็นรายบุคคลอย่างเพียงพอ เช่น การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเยียวยาสภาพจิตใจ รวมทั้งดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันในสถานคุ้มครองทุกแห่ง 10. ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการสืบสวนการละเมิดแรงงานและข้อร้องเรียนของแรงงานต่างด้าว ที่มีข้อบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานเพื่อระบุอาชญากรรมการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบังคับใช้ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย 11. เพิ่มความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับตัวชี้วัดการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับให้ใช้หนี้ การทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การยึดเอกสารสัญญา และการค้างจ่ายค่าจ้าง และ 12. ตรวจคัดกรองคนงานชาวเกาหลีเหนือเพื่อหาสัญญาณของการค้ามนุษย์ และส่งต่อพวกเขาไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามพันธกรณีภายใต้มติที่ 2397 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ #ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น