ก.แรงงาน จับมือ กรมประมง และ USAID ลงนามเอ็มโอยู ลดความเปราะบางของแรงงาน มุ่งต่อต้านการค้ามนุษย์ ยกไทยสู่เทียร์ 1 - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ก.แรงงาน จับมือ กรมประมง และ USAID ลงนามเอ็มโอยู ลดความเปราะบางของแรงงาน มุ่งต่อต้านการค้ามนุษย์ ยกไทยสู่เทียร์ 1


เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์ โดยมี พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานสักขีพยาน ดร.สตีเว่น จี. โอลีฟ ผู้อำนวยการ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สำนักงานภาคพื้นเอเชีย นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมงปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมประมง นางเมแกน แม็กเบน (Meghan MacBain) ผู้อำนวยการโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยสนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID Thailand Counter Trafficking in Persons) ดำเนินโครงการโดยองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย (Winrock International) เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมอนันตรา สยาม ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร



พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ณ กระทรวงแรงงาน ผมในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืน ได้ร่วมประชุมหารือภาคีเครือข่ายในประเด็นความร่วมมือด้านแรงงานและการตรวจสอบคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาคประมงร่วมกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย การประชุมในครั้งนั้น นำไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมประมง และองค์การวินร็อค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำโครงการและนวัตกรรมขององค์การ USAID และองค์การวินร็อคมาเผยแพร่และใช้งานร่วมกัน



พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน กรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงฯ และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคุณ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) และองค์การวินร็อค อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ที่ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลผลักดันให้เกิดบันทึกข้อตกลงฯ จึงทำให้เป็นที่มาของพิธีลงนามในวันนี้ กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สำหรับกรมประมง ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญ โดยปัจจุบันได้มีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการคัดกรองแรงงานต่างด้าวในภาคประมงทะเล ตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism - NRM) เพื่อคัดกรองแรงงานที่เปราะบางในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเลของประเทศไทย และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันผนึกกำลังเป็นทีม Thailand ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป



สำหรับลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสามารถในการติดต่อสื่อสารและแจ้งขอความช่วยเหลือให้แรงงานซึ่งทำงานบนเรือประมงติดตั้งส่วนเสริมให้กับระบบติดตามตำแหน่งเรือประมง (VMS) ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้สัญญาณดาวเทียมแทนสัญญาณโทรศัพท์ปกติ เพื่อให้สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือในพื้นที่ทำการประมงที่สัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนขยายความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจาก โครงการนำร่องเทคโนโลยีสื่อสารบนเรือ (Connectivity at Sea) เพื่อลดความเปราะบางของแรงงานต่อการค้ามนุษย์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น