ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การลงคะแนนเสียงที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทย เป็นโอกาสสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันต่อสาธารณะถึงเจตจำนงค์ที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ภาคประชาสังคม และเยาวชน หากได้รับเลือกตั้ง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยต้องรับประกันว่า ประชาชนในไทยจะสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการสมาคม รวมทั้งจะไม่ต้องถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงออกอีกต่อไป นอกจากนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกการดำเนินคดีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่ขัดขวางการใช้สิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่
“ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ประกอบกับการลุกฮือเพื่อชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชนทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับโรคระบาดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก ทั้งยังเพิ่มทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผลต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
“ประมาณ 7.6% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52 ล้านคนในประเทศไทยเป็นผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา เยาวชนเหล่านี้จำนวนหลายคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงในช่วงสามปีที่ผ่านมา และได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยภาครัฐ หากพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามา พวกเขาควรรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงเยาวชน และควรตอบรับข้อเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงของประชาชนและแสดงเจตจำนงค์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน”
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/latest/news/1120/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น