เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 66 เวลา 13.00 น. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นางสาวคริสติน ทิลลี่ ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย ในโอกาสติดตามการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์กลางของเมืองและบริเวณโดยรอบให้มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (Resilient Urban Centres and surrounds) หรือ RUCaS โดยมีนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และคณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ
ในการนี้ รองผู้ว่าฯ วิศณุ ได้กล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปถึงการดำเนินงานตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งได้ดำเนินการภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชให้เป็นป่านิเวศ เพื่อช่วยดูดซับมลพิษและกลิ่นจากโรงงานต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ซึ่งจะช่วยทำให้สภาพแวดล้อมโดยรวมของศูนย์ฯ และชุมชนใกล้เคียงดีขึ้น โดยมีเป้าหมายการดำเนินการปลูกกล้าไม้ยืนต้นชนิดต่าง ๆ อาทิ ยางนา ตะเคียนทอง พะยอม พะยูง มะค่าโมง มะกล่ำต้น มะเดื่อ นนทรีป่า รวมจำนวน 45,000 ต้น ภายในปี 2566 จากนั้นจะมีการดูแลและติดตามการเจริญเติบโตของกล้าไม้ที่ปลูกไปแล้วทุก 6 เดือน โดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไปใช้ในทางวิชาการต่อไป
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์กลางของเมืองและบริเวณโดยรอบให้มีความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (Resilient Urban Centres and Surrounds) หรือ RUCaS เป็นโครงการความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ริเริ่มโดยกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย (Australian Government’s Department of Foreign Affairs and Trade: DFAT) และดำเนินการโดยองค์การ Water Sensitive Cities Australia โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการใช้แนวทางธรรมชาติ (Nature-based Solutions) หรือ NbS แบบบูรณาการสำหรับการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตเมือง สาธิตการนำแนวทางธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลในวงกว้าง ส่งเสริมความรู้ความสามารถเพื่อให้เกิดการสืบทอดแนวคิดดังกล่าวอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างศักยภาพในการใช้เครื่องมือประเมินทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งนี้จากการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ และผู้แทนกรุงเทพมหานครได้คัดเลือกโครงการของกรุงเทพมหานครที่เหมาะสมที่จะเป็นกรณีศึกษาของโครงการ RUCas ได้แก่ โครงการปรับปรุงแก้มลิงบึงมักกะสัน (ส่วนที่ 1) (รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ) และโครงการฟื้นฟูบ่อขยะให้กลายเป็นสวนป่าเชิงนิเวศ บริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ (รับผิดชอบโดยสำนักสิ่งแวดล้อม)
นำสถานทูตออสเตรเลีย เยี่ยมชมพื้นที่ปลูกป่านิเวศอ่อนนุช เพื่อความร่วมมือพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น