ปัจจุบันดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทำให้เรามีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเร่งด่วน การเคลื่อนไหวระหว่างวันที่น้อยลง แต่ความเครียดกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุทำให้โรคภัยไข้เจ็บเข้าใกล้เราเร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน โรคมะเร็ง สมองขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ เป็นต้น โรคกลุ่มนี้เรียกว่าโรคไม่ติดต่อ (NCDs – Non Commercial Diseases) ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ ซึ่งกลายมาเป็นปัญหาสุขภาพและสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก
ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย มนุษย์มีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อปี 2020 ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงปี 2020 – 2100 มีโอกาสที่ 68% ของช่วงชีวิตคนใดคนหนึ่ง จะมีชีวิตยืนยาวได้ถึง 120 ปี
พญ. กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี (หมอเพื่อน) แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน และผู้อำนวยการศูนย์พรีเมียร์ไลฟ์เซ็นเตอร์ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวว่า “ในขณะที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่สิ่งที่ร่างกายมนุษย์ต้องการอย่างแท้จริงคืออากาศและน้ำที่บริสุทธิ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่านี่คือธรรมชาติของชีวิตและเราต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำคัญไม่ต่างจากการสร้างวิวัฒนาการทางโลกให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่มนุษย์จะได้มีอายุที่ยืนยาวควบคู่ไปกับสุขภาพที่ดีด้วย”
หมอเพื่อนกล่าวต่อว่า “นอกเหนือจากกลุ่มโรค NCDs แล้ว โรคร้ายแรงหนึ่งในสามของศตวรรษที่ 21 ที่องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ได้จัดอันดับให้ คือ โรคของสภาพจิตใจหรือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียที่สำคัญรองลงมาจากโรค NCDs จะเห็นได้ว่าโรคภัยไข้เจ็บยิ่งนานวันยิ่งมีมากขึ้น
ยังมีเรื่องของโรคซึมเศร้าที่จัดเป็นพิษร้ายจากการเผชิญความเครียดสะสมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รวมไปถึงค่าฝุ่น PM 2.5 ซึ่งย้อนกลับไปศตวรรรษที่ 19 มนุษย์เพิ่งเริ่มเรียนรู้ว่าเชื้อโรคคืออะไร ต้องหาวิธีการรักษาโรค เริ่มรู้จักคำว่า รังสีเอกซเรย์ แสกน และฮอร์โมน มาศตวรรษที่ 20 ก็มุ่งเน้นการหาวิธีรักษาตามอาการของโรคที่เป็น และในปัจจุบันศตรวรรษที่ 21 มาการดูแลสุขภาพโดยที่ทำให้เราสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือเรียนรู้วิธีทำยังไงให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อที่เราจะไม่เป็นโรค รวมเรียกว่า เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) คือการเปลี่ยนแปลงสุขภาพให้แข็งแรงจากภายใน โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือป้องกันไม่ให้เป็นโรค สองคือการตรวจเช็กความเสี่ยงโรคร้ายต่างๆ และสุดท้ายคือหากเป็นโรคแล้วเราจะมีวิธีป้องกันอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นโรคซ้ำ หรือลดความรุนแรงจากโรคที่เป็นให้น้อยที่สุด”
หมอเพื่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แบ่งเป็นเรื่องของการรับประทานอาหาร การดูแลออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอน อารมณ์ ซึ่ง เวชศาสตร์เชิงป้องกัน ( Preventive Medicine) มาจากวิวัฒนาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่จะทำให้สามารถตรวจเจาะลึกถึงระดับเซลล์ ดูระดับวิตามินในร่างกาย การวิเคราะห์สุขภาพในระดับ DNA การตรวจระดับฮอร์โมน สามารถตรวจถึงการดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน เพื่อให้กลับมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น กินดี (Food is Medicine) นอนดี อารมณ์ดี (Sleep and Mood Balance) การออกกำลังกายประเภทไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา (The best immune is exercise) เช็กระบบการเผาผลาญ การตรวจภูมิคุ้มกันแบบ NK Cells (Natural Killer Cells) หรือตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาว ไปจนถึงการตรวจวัดความเสื่อมของเซลล์ที่จะนำไปสู่โรคต่างๆ ในอนาคต เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด อัลไซเมอร์ มะเร็ง เป็นต้น ซึ่งช่วยให้เราวางแผนได้รวมทั้งปรับพฤติกรรมให้มีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีความสุขและมั่นคงในชีวิต แบบ Health Brings Wealth ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ในเครือ รพ. พญาไท”
ทางด้าน พญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน หัวหน้าศูนย์สุขภาพหญิง และหัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์เชิงป้องกัน Smart Life Preventive Medicine Center โรงพยาบาลพญาไท 1 กล่าวเสริมถึงภาวะโรคอ้วนเป็นภัยคุกคามชีวิตว่า “โรคอ้วนเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ทำให้มีไขมันสะสมในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความเครียด ความผิดปกติทางพันธุกรรม ฮอร์โมนผิดปกติ การใช้ยาบางชนิด หรือพฤติกรรมการกิน ทำให้ร่างกายมีพลังงานที่ได้รับมากกว่าพลังงานที่ใช้ไป จนทำส่งผลเสียต่อสุขภาพ นำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ประจำเดือนมาไม่ปกติ หยุดหายใจขณะหลับ คุณภาพการนอนไม่ดี เพิ่มความเสี่ยงในเการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ที่สำคัญความอ้วนทำให้ขาดความมั่นใจ วิตกกังวลและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้”
“การป้องกันไม่ให้กลับมาอ้วนอีกนั้น แพทย์จะซักประวัติอาหารและรูปแบบการใช้ชีวิต ตรวจให้รู้ปัญหาเชิงลึก วัดดัชนีมวลกาย ตรวจวัดสัดส่วนและองค์ประกอบของร่างกาย ตรวจระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ตรวจหาความผิดปกติระดับยีนทั้งรูปแบบอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมในการควบคุมน้ำหนักให้ได้ผล การเผาผลาญ ความไวต่ออาหารและการรับรสที่เหมาะสม นอกจากนี้ การตรวจระบบเผาผลาญ การทำงานของระบบทางเดิน ทั้งสมดุลจุลินทรีย์ และการแพ้อาหารแฝง ก็ส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารและการควบคุมน้ำหนักอย่างได้ผลเช่นกัน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวล และวางแผนร่วมกับคนไข้ในการกำหนดน้ำหนักเป้าหมาย ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต จัดโภชนาการเพื่อสมดุลของระบบทางเดินอาหารและการควบคุมน้ำหนัก จัดโปรแกรมการออกกำลังกายเพื่อการเผาผลาญและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไม่กลับมาอ้วนและรักษาสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งการจัดยาฮอร์โมนและวิตามินเฉพาะบุคคลที่เหมาะสม ตามผลการตรวจเชิงลึกโดยแพทย์ร่วมกับการปรับเปลี่ยนอาหารและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไข้ตามผลการตรวจ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่เป็นรูปธรรมในการลดน้ำหนัก เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมาในที่สุด” พญ.ธิศรา กล่าวเสริม
ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน แผนกเวชศาสตร์ป้องกันภณา รพ. พญาไทนวมินทร์และผู้อำนวยการ รพ. พญาไท นวมินทร์ กล่าวเสริมเรื่องฮอร์โมนว่า “ฮอร์โมนเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายเราเป็นผู้สร้างขึ้นมา เมื่อยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนคุณมีเต็มจนล้นปรี่ จนทำให้คุณผู้หญิงดูสวยสดใส ร่าเริงมีชีวิตชีวา และในคุณผู้ชายก็มีพละกำลัง แข็งแรง กำยำ แต่แล้วมันก็จะลดลงไปตามกาลเวลา”
โดยปกติฮอร์โมนมีหน้าที่ควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น Growth Hormone สร้างจากต่อมใต้สมอง ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตในวัยเด็ก และช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในวัยผู้ใหญ่ Thyroid Hormone สร้างจากต่อมไทรอยด์ ช่วยเรื่องการเผาผลาญอาหาร หากฮอร์โมนในส่วนนี้มีน้อยคุณก็จะเป็นคนอ้วนง่าย เชื่องช้า แต่คุณจะโทษว่าคุณอ้วนเพราะฮอร์โมนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะตราบใดปริมาณอาหารที่คุณรับประทานยังเท่าเดิมอยู่ ซ้ำยังไม่ออกกำลังกายเลย คุณก็จะเป็นน้องปุ้มปุ้ยท้วมๆ ต่อมไร้ท่อที่ช่วยควบคุมการทำงานของร่างกายที่แบ่งแยกเพศอย่างชัดเจน มี 2 ส่วนด้วยกันคือ รังไข่ สร้างฮอร์โมนเพศหญิง Estrogen และ Progesterone ที่ช่วยในการทำงานในร่างกายของคุณผู้หญิง มีหน้าที่ต่างๆ ดังนี้คือ ควบคุมการมีบุตร การมีรอบเดือน ทำให้ผิวที่เนียนสวยของคุณเต่งตึงและชุ่มชื่นอยู่เสมอ ช่วยควบคุมให้อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย สดชื่น กระฉับกระเฉง ไม่อ่อนเพลีย ทำให้รับมือกับความเครียดได้ดีมากขึ้น ความจำดี นอนหลับสนิท เสริมภูมิต้านทาน ป้องกันโรคหัวใจ และที่สำคัญป้องกันโรคกระดูกพรุน ส่วนในคุณผู้ชายต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ก็คือ อัณฑะ ฮอร์โมนในส่วนนี้จะช่วยทำให้รูปร่างของคุณผู้ชายกำยำสมชายชาตรีมากขึ้น เสียงห้าวมีอำนาจ มีกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ มีการตัดสินใจที่เฉียบขาด มีความเป็นผู้นำ ชอบที่จะแข่งขัน ความจำดี อารมณ์ไม่แปรปรวนง่าย และทำให้มีความต้องการทางเพศ
สัญญาณและอาการบ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายบกพร่องในสุภาพบุรุษนั้น มีอาการเช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ความจำพร่าเลือน ขาดสมาธิ ขาดแรงกระตุ้นทางเพศ สมรรถภาพทางเพศเสื่อมหรือลดลง ปวดหลัง ปวดข้อ ขาดความกระปรี้กระเปร่า พละกำลังลดลง หดหู่ซึมเศร้า ท้อแท้ต่อชีวิต อารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ตื่นตระหนก วิตกกังวล มีความเครียดสูง
ส่วนในสุภาพสตรีนั้นอาการค่อนข้างจะชัดเจนและสังเกตเห็นง่ายกว่า ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เรียกอาการวัยทอง ประจำเดือนหมด (menopause) ทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออก เฉื่อยชา ขาดชีวิตชีวา อารมณ์หดหู่ ซึมเศร้า อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เครียด วิตกกังวล ความจำพร่าเลือน หรือขาดสมาธิ ปวดศีรษะ หน้าอกหย่อนยาน ความตอบสนองทางเพศไม่เป็นที่พอใจ ช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น สุขภาพผมและผิวเสียสมดุล และที่ร้ายแรงกว่าก็เช่น ภาวะกระดูกพรุน
อาการเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร การให้ฮอร์โมนทดแทนจะทำให้การทำงานของร่างกายใกล้เคียงกับวัยหนุ่มสาว ความจำดีขึ้น มวลกระดูกหนาแน่นขึ้นและอื่นๆ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทาง ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถรับฮอร์โมนทดแทนได้
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า “ความเครียดมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อ โดยเฉพาะ Cortisol Hormone หรือฮอร์โมนความเครียด ซึ่งผลิตจากต่อมหมวกไต และฮอร์โมนไทรอยด์ และหากฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติก็จะส่งผลต่อฮอร์โมนตัวอื่นด้วยเช่นกัน ฉะนั้น การที่เราจะดูแลตัวเองให้ดีได้นั้น คือการมีแนวคิดที่ดีตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 อย่างด้วยกัน คือ 1. Food - การรับประทานอาหารที่มีคุณภาพไม่แปรรูป มีโปรตีนสูง ทานผักใบเขียว ผลไม้ไม่หวาน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 2. Exercise - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3. Sleep – นอนหลับดี 4. Stress Management - การจัดการความเครียด 5. Avoidance of Risky Substances - เลี่ยงพฤติกรรมอันตราย เช่น ดื่มแอลกอฮอร์ สูบบุหรี่ และ 6. Positive Psychology and Connectedness – มีมุมมองเชิงจิตวิทยาเป็นบวก และมีความสัมพันธ์ในสังคมที่ดี และอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคต่างๆ”
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้าย “การพบแพทย์เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วยหรือเข้าสู่วัยทอง เราสามารถไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา วางแผนเรื่องสุขภาพในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดีได้ซึ่งถือเป็นโอกาสทอง เพื่อที่จะได้ปรับพฤติกรรมชีวิตให้มีสุขภาพที่ดีที่สุดในช่วงอายุที่มากขึ้น”
ปัจจุบัน เครือ รพ.พญาไท เปิดให้บริการด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง ทั้ง 5 สาขา ได้แก่ รพ.พญาไท 1 รพ.พญาไท 2 รพ.พญาไท 3 รพ.พญาไท นวมินทร์ และ รพ.พญาไท ศรีราชา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รพ. พญาไท Call Center 1772
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น