เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 : นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมเวทีเสวนาทางนโยบาย (Policy Dialogue) หัวข้อเรื่อง “พม. กับนโยบายการคุ้มครองทางสังคม จากแนวคิดสู่นโยบายที่เป็นจริง” โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อร่างนโยบายด้านการคุ้มครองทางสังคมตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนงานกระทรวง พม. ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ณ โรงแรม เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก กรุงเทพมหานคร
ซึ่งในเวทีเสวนา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ได้กล่าวถึง สถานการณ์ประชาคมโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน สลับซับซ้อน และคลุมเครือ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่มีพลวัตและผลกระทบสูง หรือที่ขนานนามว่า VUCA World สำหรับประเทศไทย ทิศทางและแนวโน้มของสังคมไทยอาจจะขึ้นอยู่กับข้อท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่นที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง 2) การเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากร
โดยคาดว่าภายในปี 2566 สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 สูงถึงร้อยละ 20.1 ของประชากรทั้งหมด สวนทางกับประชากรวัยเรียนและวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 3-21 ปี ที่จะมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 20.66 ของประชากรทั้งหมดในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤติวัยแรงงานที่ขาดแคลน และประสบกับภาวะการพึ่งพิงของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น และ 3) ผลกระทบด้านลบ ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ ประเทศไทยเจอกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มพึ่งพิงมีโอกาสที่จะได้รับความรุนแรงมากที่สุด โดยมีแนวโน้มที่ไม่สามารถออกจากวงจรความยากจนได้ ทำให้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น หากไม่มีการจัดการและการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมจึงเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค VUCA World ต่อไป
สำหรับในปัจจุบันประเทศไทยถึงจะมีสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกช่วยวัยแล้ว แต่ยังขาดการออกแบบอย่างเป็นระบบ และกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน มีช่องว่างที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยมีข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี พบว่า ค่าใช้จ่ายของประเทศไทยด้านการคุ้มครองทางสังคม เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 5.1% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 7.5% ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ 24% สำหรับประเทศที่มีรายได้สูง นอกจากนี้ การจัดสวัสดิการแบบพุ่งเป้า ยังพบปัญหาเรื่องของการตกหล่น “คนที่จนจริงแต่ไม่ได้การคุ้มครอง” และการรั่วไหล “คนที่จนไม่จริงแต่ได้รับสวัสดิการ” ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนเงินสวัสดิการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจำเป็น เช่น นโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวต้องรับภาระเองเพิ่มเติม เช่น ค่าเดินทาง และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งการยกระดับการคุ้มครองทางสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องอาศัยการสนับสนุนและการผลักดันจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
#นโยบายการคุ้มครองทางสังคม#พม #ข่าวพม #พม24ชม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น