เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 66 ณ โรงเรียนแจ่มจันทร์ เขตวัฒนา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสถานศึกษาวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2566 โรงเรียนสังกัด กทม. ว่า วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดเรียนของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครมีโรงเรียน 437 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนระดับประถม ส่วนโรงเรียนมัธยมมีเพียง 7 แห่ง แต่เด็กประถมในพื้นที่กรุงเทพมหานครครึ่งหนึ่งอยู่กับโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่เราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องปฐมวัย ประเทศไทยหรือกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูง การที่เราไปทำรถไฟฟ้า ไปทำอะไรต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่ามิติเหล่านั้นไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้น นโยบายที่สำคัญของเราจะเน้นเรื่องการศึกษากับเรื่องสุขภาพ เนื่องจากคือหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพมหานคร โดยเราได้เน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของกทม. โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมครู เพราะที่ผ่านมาครูเสียเวลากับงานธุรการมากประมาณ 40% จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่การเงินโดยเฉพาะ เข้ามาทำงานในโรงเรียนเพื่อให้แบ่งเบาภาระครู รวมถึงมีนโยบายการคืนครูให้นักเรียน ให้ครูสามารถปรับวิทยฐานะได้อย่างถูกตามขั้นตอนมากขึ้น เพื่อไม่ให้ครูต้องเสียเวลากับการทำเอกสารเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ แต่สามารถใช้เวลาไปกับการเอาใจใส่นักเรียนได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรับปรุงรายละเอียดเรื่องนี้
รวมทั้งปรับปรุงเรื่องอาหารของเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพดีขึ้น เรามีแนวคิดทำสลัดผักในมื้ออาหารเช้า อยากให้เด็กมีผักสดกินเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และมีการดูเรื่องมาตรฐานต่าง ๆ การทำห้องคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพ เนื่องจากปัจจุบันคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่สำคัญและไม่แพ้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ดังนั้นจะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ให้เด็กมีอุปกรณ์ที่ดี มีคุณภาพที่ดี ก็น่าจะทำให้มีความรู้ได้มากขึ้น ที่ผ่านมาการเรียนการสอนจะเป็น Passive learning คือนักเรียนรอครูสอน เราจึงได้มีการส่งเสริมการเรียนแบบ Active learning คือเรียนแบบนักเรียนมีส่วนร่วม เพื่อให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น ขณะนี้ทำสำเร็จไป 1 ห้อง และจะขยายไปทุกโรงเรียนเพื่อให้คุณภาพของการศึกษาดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาจีนที่โรงเรียน มีครูจีนมาช่วย ปัจจุบันก็มีครูต่างชาติภาษาอังกฤษอยู่และจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากจริงๆ แล้วเรื่องโรงเรียนดีใกล้บ้านเป็นเรื่องสำคัญ
ถามว่าทำไมกรุงเทพถึงรถติดเวลาโรงเรียนเปิด จนถึงถามว่าทำไมเด็กต้องไปหาโรงเรียนที่ดี ๆ ที่อยู่ไกลบ้าน เนื่องจากโรงเรียนใกล้บ้านพ่อแม่ยังไม่มั่นใจในคุณภาพ เด็กจึงต้องเดินทางไปไกล หากสามารถทำโรงเรียนของกทม.ทั้ง 437 โรงเรียนให้มีคุณภาพที่ดีระดับมาตรฐานโลก พ่อแม่ก็ไม่ต้องส่งลูกไปเรียนไกล ๆ สามารถเดินมาส่งลูกที่โรงเรียนใกล้บ้าน เด็กไม่ต้องเสียเวลารถติดอยู่บนท้องถนน สามารถมีเวลาทำกิจกรรมอยู่กับเพื่อนหรือกิจกรรมอื่น ๆ นี่คือนโยบายหนึ่งที่ต้องมีโรงเรียนดีที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ซึ่งเราทำมานานแล้วตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งก็เริ่มทำมาตลอดและจะเริ่มค่อย ๆ เห็นผล ต้องฝากผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญกับโรงเรียนมากและจะทุ่มเททรัพยากรต่าง ๆ ลงมาที่โรงเรียน ขอให้อาจารย์ช่วยกันดูแลให้เด็กได้ประโยชน์อย่างเต็ม ๆ ที่สำคัญคือฟังผู้ปกครองให้มาก ๆ ผู้ปกครองจะเป็นห่วงสวัสดิการของลูกอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจะไม่มีความลำเอียง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยตรวจสอบโรงเรียน ตรวจสอบอาหาร ตรวจสอบชุดนักเรียน/แบบเรียน ตรวจสอบ การดูแลเด็ก เพื่อให้ได้คำตอบที่แท้จริง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา สำนักงานเขต และโรงเรียน ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.ตรวจสอบสภาพกล้องวงจรปิด CCTV ภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา ตรวจสอบระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียนให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตรวจสอบการติดตั้งสายดินของเครื่องทำน้ำเย็น โดยประสานงานการไฟฟ้านครหลวงดำเนินการให้ครบทุกโรงเรียน 2.ตรวจสอบความพร้อมของอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก สภาพแวดล้อม ความสะอาด และวัสดุการเรียนการสอน 3.กำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนโดยเคร่งครัด 4.กำชับผู้ปกครองหรือผู้ประกอบการรถตู้ที่ใช้รถตู้ในการรับส่งนักเรียนตรวจสอบภายในรถตู้ทุกครั้งเมื่อส่งนักเรียนที่โรงเรียนแล้ว
5.เตรียมความพร้อมด้านสุขาภิบาลอาหารก่อนวันเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ควบคุมดูแลการประกอบอาหารของแม่ครัว ความสะอาดของโรงอาหาร ภาชนะเครื่องใช้ และการจัดเก็บนมโรงเรียน ตลอดจนการจัดเก็บอาหารสด เพื่อป้องกันไมให้เกิดการปนเปื้อนในอาหาร จนเกิดโรคอุจจาระร่วงหรือเป็นพิษได้ 6.เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนมาตรการในการเข้ารับวัคชีนทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 7.ตรวจสอบสัญญาณไฟกระพริบและทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งประสานงานกับกรมเจ้าท่าตรวจสอบท่าเทียบเรือ เพื่อปรับปรุงให้มีความมั่นคงแข็งแรง 8.ดูแลการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียน อำนวยความสะดวกให้นักเรียน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป 9.เตรียมความพร้อมในการเข้าระงับเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัยอื่น ๆ ในบริเวณโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้เคียง และ 10.กำกับดูแลโรงเรียนดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมวันนี้ แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้บริหารเขตวัฒนา ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น