นายวีระศักดิ์ ยอดอาจ ที่ปรึกษากฎหมายและรับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า ตามที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ดำเนินการประกวดราคาเช่ารถส่วนกลาง ประเภทรถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า (อีวี) งบประมาณปี 2566 โดยมีการจัดซอยขอบเขตของงาน หรือ TOR แบ่งเป็น การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาอลูมิเนียม จำนวน 3 คัน วงเงินงบประมาณ 7,707,480 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า แบบมาตรฐานทั่วไป จำนวน 11 คัน วงเงิน 28,003,793 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาไฟเบอร์กลาสทรงสูง จำนวน 9 คัน วงเงิน 23,239,620 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาไฟเบอร์กลาสทรงเตี้ย จำนวน 8 คัน วงเงิน 20,657,094 บาท รวมทั้งสิ้น 31 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 80 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นรถส่วนกลางในภารกิจของ กฟน. โดยผู้ที่ชนะการเสนอราคาในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท ไทยอีวี จำกัด ซึ่งชนะในทุกรายการ
ที่ปรึกษากฎหมายฯ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามใน TOR กำหนดไว้ว่า ระยะเวลาการดำเนินการ คือมีระยะเวลาการเช่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2571 ซึ่งกำหนดให้ผู้ชนะการเสนอราคาดังกล่าวต้องส่งมอบรถก่อนวันที่เริ่มต้นสัญญา อย่างน้อย 1 วันทำการ คือต้องส่งรถภายใน 31 มี.ค66 ที่ผ่านมา นี้ แต่ทราบมาว่าทางผู้ชนะการเสนอราคาไม่สามารถที่จะจัดส่งมอบรถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังงานไฟฟ้าได้ทันตามกำหนดในสัญญา ซึ่งถือเป็นการทำผิดสัญญาตาม TOR แม้ กฟน.จะกำหนดใน TOR ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นสัญญาและวันสิ้นสุดสัญญา โดยยังอยู่ภายใต้ระยะเวลาการเช่า 5 ปี หรือ 60 เดือนเท่าเดิม แต่การจะเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นสัญญาและวันสิ้นสุดสัญญานั้นต้องมีเหตุผลอันสมควร ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ชนะการเสนอราคา เนื่องจากเดิมกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบรถภายในเดือน มี.ค.66 แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงวันเริ่มต้นสัญญาเป็นเดือน ส.ค. เท่ากับขยายระยะเวลาในการส่งมอบรถออกไปอีก 4-5 เดือน ทำให้เอกชนรายอื่นๆที่ไม่สามารถจัดหารถมาส่งมอบได้ทันตาม TOR เดิมต้องเสียโอกาสในการเข้าร่วมเสนอราคา แสดงให้เห็นว่ามีการดำเนินการที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องช่วยกันตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการ
“ได้ข่าวมาว่าทางบริษัทไทยอีวี จำกัด ไม่สามารถที่จะส่งมอบรถได้ทันตามเงื่อนไขเวลาที่ระบุไว้ใน TOR และทาง กฟน.ก็พร้อมขยายเวลาให้เป็นเดือน ส.ค. ซึ่งมองว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นและวันสิ้นสุดสัญญาจริง ทางผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงต้องชี้แจงเหตุผลที่สมควร ไม่ใช่เลื่อนเวลาออกไปเพียงเพราะทางผู้ชนะการเสนอราคาไม่สามารถจัดหารถมาส่งมอบได้ทันตามกำหนด เพราะเท่ากับว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ในขณะที่ กฟน.เสียประโยชน์" นายวีระศักดิ์
พร้อมกันนั้นนายวีระศักดิ์ ระบุด้วยว่า ดังนั้นตนจึงอยากฝากไปถึงหน่วยงานของทางราชการว่า การจะจัดซื้อหรือจัดเช่ารถยนต์ไฟฟ้า คณะกรรมการจัดซื้อควรมีการไปตรวจสอบโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ เพื่อให้มั่นใจว่ามีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจริง ไม่ใช่มีเพียงแค่เอกสารหรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเท่านั้น ซึ่งในกรณีของ กฟน.ไม่แน่ใจว่ามีการไปตรวจสอบโรงงานผลิตหรือไม่” นายวีระศักดิ์กล่าวทิ้งทาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น