เมื่อวันที่ 2 มี.ค.66 เวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร(ศปท.กทม.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมีนายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงาน ก.ก. ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และคณะกรรมการ ร่วมประชุม ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคนร้องเรียนและแจ้งปัญหาต่างๆเข้ามาสู่ระบบ Traffy Fondue กว่า 200,000 เรื่องซึ่งก็มีเรื่องทุจริตด้วย คาดว่าในอนาคตประชาชนจะคุ้นชินกับระบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กทม.จะได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าหน้าที่ด้วยการประสานงานภายในหน่วยงานของกทม.เอง เพื่อให้การแก้ปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งความไว้ใจจากประชาชน เนื่องจากกทม.สามารถแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนได้
การประชุมในครั้งนี้ที่ประชุมได้มีการหารือ พิจารณาแนวทางดำเนินการกับบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันและต่อต้าน การทุจริตและประพฤติมิชอบของกรุงเทพมหานคร(กทม.) สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการลงมา และประเภททั่วไป ระดับอาวุโสลงมา ซึ่งบุคคลที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกรณีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ มีเรื่องร้องเรียนกรณีทุจริต เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นใดหรืออามิสสินจ้างต่าง ๆ การใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นที่ถูกร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ Traffy Fondue ทำเป็นหนังสือถึงหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร หัวหน้าสำนักงาน ก.ก. ร้องเรียนผ่านศูนย์รับแจ้งทุกข์ สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร หรือสายด่วนกทม.1555
จะมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้ 1. ส่งเรื่องให้สำนักงาน ก.ก. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และให้นำเรื่องร้องเรียนที่มีข้อมูล หรือหลักฐานเบื้องต้นที่เชื่อได้ว่าอาจมีพฤติกรรมการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ (โดยปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนไว้เป็นทางลับ) เสนอผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบข้อเท็จจริงทางลับภายใน 30 วัน 2. หากมีมูลให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ) เพื่อพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
3. ระหว่างมีการสอบสวนให้ปลัดกรุงเทพมหานครย้ายบุคคลดังกล่าวไปช่วยราชการ หรือสั่งพักราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนกำหนด เกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนทุจริต และการส่งต่อเรื่องร้องเรียนทุจริต โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ การป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วย การลงพื้นที่หรือมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร(ศตท.กทม.) มีรองปลัดกรุงเทพมหานครสั่งราชการสำนักงาน ก.ก.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องเรียนตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อสอบสวนขยายผล ตรวจสอบเชิงรุก เรื่องที่เป็นความเสี่ยงและอาจเอื้อให้มีการทุจริต เช่น การ จัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หาบเร่แผงลอย การอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการขออนุญาตของผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยแจ้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้กำชับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศตท.กทม. และเตรียมความพร้อมของข้อมูล/เอกสาร สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะผู้บริหาร หากพบเห็นพฤติกรรมการทุจริตหรือการเรียกรับสินบนให้แจ้ง เบาะแสทันที พร้อมเน้นย้ำว่า ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใสตามนโยบาย ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการ ติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) จำนวน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนและภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ด้านงานโยธา และด้านงานเทศกิจ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แจ้งผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐ (ITA) ของสำนักงานเขต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยขณะนี้ได้เก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) มีสำนักงานเขตที่ดำเนินการครบแล้วจำนวน 22 สำนักงานเขต (คิดเป็นร้อยละ 44) สำนักงานเขตยังดำเนินการไม่ครบจำนวน 28 สำนักงานเขต (คิดเป็นร้อยละ 56) ในส่วนของการเก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) มีสำนักงานเขตที่ดำเนินการครบแล้ว จำนวน 12 สำนักงานเขต (คิดเป็นร้อยละ 24) สำนักงานเขตยังดำเนินการไม่ครบจำนวน 38 สำนักงาน เขต (คิดเป็นร้อยละ 76) รวมถึงสถิติการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร(ศตท.กทม.)ได้รับเรื่องร้องเรียนตาม ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนทุจริต ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามีทั้งสิ้น 23 เรื่อง ซึ่งร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue 15 เรื่อง (โยธา 2 เรื่อง, เทศกิจ 4 เรื่อง, สิ่งแวดล้อม 1 เรื่อง, อื่นๆ 8 เรื่อง) และร้องเรียนผ่านผู้บริหารกทม.8 เรื่อง ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น 4 เรื่อง ส่งต่อให้หน่วยงานดำเนินการ 5 เรื่อง ส่งให้คณะทํางานดำเนินการ 11 เรื่อง ส่งเรื่องให้สํานักงานป.ป.ช. 2 เรื่อง ส่งเรื่องให้สํานักงาน ป.ป.ท. 1 เรื่อง
#บริหารจัดการดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น