เมื่อวันที่ 13 มี.ค.66 เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตสวนหลวง ซึ่งเป็นการอาศัยความร่วมมือของข้าราชการและบุคลากรภายในอาคารสำนักงานเขต คัดแยกขยะให้ถูกประเภทและทิ้งให้ถูกจุดที่กำหนด รวมไปถึงการแยกขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป ออกจากกัน ตามโครงการไม่เทรวม โดยนำขยะเศษอาหารไปทิ้งรวมกันบริเวณ ชั้น 1 ด้านหลังอาคาร เพื่อนำไปทำปุ๋ย วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป จัดเก็บทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล นำไปใช้ประโยชน์ และจำหน่าย 3.ขยะอินทรีย์ เกษตรกรจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดเก็บทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 8,817.05 กิโลกรัม หลังคัดแยก 5,552.8 กิโลกรัม ขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ 3,264.2 กิโลกรัม (ข้อมูลเฉลี่ย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566)
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้ติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายรายได้ และให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 47,851 แปลง สำรวจแล้ว 45,223 แปลง คงเหลือ 2,628 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 45,770 แห่ง สำรวจแล้ว 37,204 แห่ง คงเหลือ 15,742 แห่ง ห้องชุด 38,419 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 132,040 รายการ สำรวจแล้ว 120,846 รายการ คงเหลือ 11,194 รายการ นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA TAX) การจัดเก็บและบันทึกข้อมูล ขั้นตอนและระยะเวลาในการเข้าสู่ระบบการชำระภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เพื่อเตรียมพร้อมในการประเมินภาษีปี 2566
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารโมเดิร์นฟอร์ม ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นอาคารสูง 28 ชั้น พื้นที่ให้เช่าทั้งอาคารประมาณ 28,000 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วยสำนักงานต่างๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 16 บลจ.ฟินันซ่า พร้อมทั้งเยี่ยมชมศูนย์อาหาร ร้านกาแฟสด ชั้น 9 ซึ่งอาคารดังกล่าวมีการรณรงค์ให้ผู้เช่าคัดแยกขยะ โดยการตั้งถังขยะเพื่อแยกประเภทขยะตามจุดต่างๆ ของอาคาร วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป รถเข้าจัดเก็บทุกวัน 2.ขยะรีไซเคิล นำไปใช้ประโยชน์ จำหน่าย และบริจาค 3.ขยะอินทรีย์ เกษตรกรจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รถเข้าจัดเก็บทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 10,470 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 6,720 กิโลกรัม/เดือน และขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ 3,750 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 80 ราย ดังนี้ 1.บริเวณซอยพัฒนาการ 25 ตั้งแต่ปากซอยถึงสน.คลองตัน ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.บริเวณซอยรามคำแหง 4 ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.บริเวณซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และ 4.บริเวณซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ให้เก็บสิ่งของและทำความสะอาดพื้นที่ เมื่อเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้เขตฯ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้ย้ายมาทำการค้าในจุด Hawker Center ที่เขตฯ ดำเนินการ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ต่อไป
จากนั้นสำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณตลาดพัฒนาการ 34 (บริเวณปากซอย) เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยได้พิจารณาตลาดพัฒนาการ 34 (บริเวณปากซอย) ซึ่งอยู่ใกล้สำนักงานทรู ทาวเวอร์ 2 เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำ Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงการพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในพื้นที่ให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในบริเวณดังกล่าว
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ได้สอบถามเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโครงการก่อสร้างอาคาร 6 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทโรงงาน/สถานประกอบการ 17 แห่ง พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
(จิรัฐคม…สปส.รายงาน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น