ผู้นำจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมในการประชุม Asia Inclusive & Responsible Business Forum (Asia-IRB) ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับโมเดลธุรกิจ และเน้นย้ำความจำเป็นในการร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อนำความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและโลกใบนี้ไปแกนสำคัญของทุกการดำเนินธุรกิจการประชุม Asia-IRB Forum จัดโดย อ็อกแฟม อินเตอร์เนชั่นแนล (Oxfam International) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีผู้นำภาคธุรกิจ กลุ่มประชาสังคมจากจากเอเชีย และหน่วยงานระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 80 ราย มีการหารือเกี่ยวกับวิธีการที่ธุรกิจต่างๆ จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายค่าจ้างที่เหมาะสม การส่งเสริมศักยภาพของผู้หญิง การมีส่วนร่วม และการปรับตัวเพื่อสร้างการผลิตและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด การประชุมนี้ยังพิจารณาถึงวิธีการเสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนต่างๆ อีกด้วย
ตัวแทนบริษัท AMRU Rice Cambodia ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวอินทรีย์รายใหญ่ของกัมพูชา หนึ่งในวิทยากรภาคเอกชน 15 รายที่อยู่บนเวทีและร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตัวอย่างแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
“เรากำลังพยายามสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนในห่วงโซ่อุปทานได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย รูปแบบของเราส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับเกษตรกรผ่านการเป็นเจ้าของหุ้นโดยตรง โดยให้ราคาที่เป็นธรรม และค่าพรีเมี่ยมสำหรับพืชผลผ่านข้อตกลงการจัดหา เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนความหลากหลายในการเพาะปลูกซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมเทคนิครับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งรวมถึงการใช้โรงเรือนและการปลูกพืชแซม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” กุนธี กัน รองประธาน AMRU Rice กล่าว
อ็อกแฟมตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากธุรกิจต่างๆ ในการลดความยากจนทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทจำนวนมากก็มีส่วนทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงที่เกิดโรคระบาด งานวิจัยของ อ็อกแฟม เรื่อง ‘Not in This Together’ ได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่ผลกำไรของบริษัท ในขณะที่แรงงานในห่วงโซ่อุปทานอาหารกลับต้องดิ้นรนเพื่อรักษางานของตนไว้
จักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟม ประจำภูมิภาคเอเชีย เผยว่า บริษัทในเอเชียเริ่มตระหนักมากขึ้นถึงแรงผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมในระดับโลก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บริษัทต่างๆ ควรก้าวข้ามรูปแบบ CSR ลักษณะเดิมๆ แบบโครงการสั้นๆ แล้วจบไป หากแต่ควรผนวกรวมมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนประกอบสำคัญของโมเดลทางธุรกิจ
“งานประชุมนี้เน้นให้เห็นถึงวิธีการที่บริษัทเอกชนขนาดและรูปแบบต่างๆ จากไทยไปจนถึงไนจีเรีย จะสามารถและได้นำกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นความสำคัญกับมนุษย์และโลกมาใช้มากขึ้นโดยไม่กระทบกับผลประกอบการทางการเงินของบริษัทเหล่านั้น”
ไทยยูเนี่ยน บริษัทแปรรูปและส่งออกอาหารทะเลระดับโลก กล่าวถึงความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในระดับโลกและระดับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา
"เราได้รับประโยชน์จากความรู้ของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการตรวจสอบและการสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของเรา และเรายังได้ทำสัญญากับเรือประมงเพื่อส่งเสริมการใช้แรงงานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย การทำงานร่วมกันเป็นพื้นฐานในการสร้างโมเดลธุรกิจที่มีส่วนร่วมและยั่งยืน เราจำเป็นต้องร่วมมือกับทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และลูกค้า” ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยน กล่าว
นอกจากนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จำนวนมากถือเป็นแหล่งอาชีพของฐานประชากรในภูมิภาคเอเชีย โดย SME แต่ละรายมีศักยภาพในการดำเนินการส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น
MUCH Mobile Healthcare สตาร์ทอัพด้านบริการสุขภาพในกัมพูชาได้ประสบความสำเร็จในปรับปรุงการดูแลผู้สูงอายุและมอบการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงผ่านคลินิกเคลื่อนที่ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดำเนินการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงานหญิงอีกด้วย
“การลงทุนในสตาร์ทอัพด้านการดูแลสุขภาพมีผลกระทบทางสังคมอย่างมาก ความสำเร็จของเรา [ธุรกิจ] นำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งนำไปสู่การกระจายทรัพยากรด้านการดูแลสุขภาพที่เท่าเทียมกันมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ” ภิรมย์ ดีพรรณ ซีอีโอของ MUCH Mobile Healthcare (กัมพูชา) กล่าว
JAEBEE Furniture กิจการเพื่อสังคมในไนจีเรียที่ปฏิบัติตามรูปแบบกิจการเพื่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างโลกที่มีส่วนร่วมและเท่าเทียมกันมากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้ว พวกเขายังเปิดสถาบันการศึกษาเพื่อฝึกอบรมและสอนผู้คนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของตนเอง
“เราทราบดีว่าการลงทุนด้านการศึกษาและการจ้างงานผู้หญิงมีความสำคัญมากในการสร้างผลกระทบทางสังคม เรามุ่งมั่นที่จะเป็นเวทีสำหรับผู้หญิงที่ด้อยโอกาสในชุมชนของเรา และนำหญิงสาวที่ออกจากโรงเรียนมาเข้าสู่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของเรา การดูแลผู้คนในชุมชนทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและเพิ่มผลกำไรได้ แนวทางของเราคือการช่วยเหลือผู้คน เพราะเรารู้ว่าเมื่อเราช่วยเหลือผู้อื่น เราทุกคนจะได้รับประโยชน์” จอย บามิเดล ซีอีโอของ Jaebee Furniture (ไนจีเรีย) กล่าว
การประชุมนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมุ่งมั่นทำงานต่อไปเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่มีความเท่าเทียม สำรวจโอกาสต่างๆ และดำเนินการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจอื่นๆ ในการให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายด้านความเป็นธรรม และความยั่งยืนเท่าๆ กับผลกำไรเพื่อสร้าง 'เศรษฐกิจฐานมนุษย์' ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่หนุนเกื้อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น