ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะประชุมผู้บริหาร ติดตามงาน เร่งแก้ไขปัญหาเชิงรุก 7 เรื่องหลัก - MSK News

Breaking

Home Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ นั่งหัวโต๊ะประชุมผู้บริหาร ติดตามงาน เร่งแก้ไขปัญหาเชิงรุก 7 เรื่องหลัก


เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ชื่นชมการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ว่าทำได้ดี แต่ยังเป็นในรูปแบบของเชิงรับ จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในเชิงรุกด้วย โดยมี 7 เรื่องหลักที่ต้องดำเนินการดังนี้ 1. หาบเร่แผงลอย/Hawker Center 2. ไฟฟ้าดับ 3. การทุจริตคอร์รัปชัน/ความโปร่งใสใบอนุญาต 4. ถนนสวย/สวน 15 นาที/ปลูกต้นไม้ล้านต้น (ทุกสัปดาห์) 5. ทางเดินเท้าสะดวกปลอดภัย 6. การก่อสร้างในพื้นที่มีมาตรฐาน ไม่ก่อมลพิษ/ความเดือดร้อนรำคาญ และ 7. รับมือน้ำท่วม ขุดลอกคูคลอง

ในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาจากการถอดบทเรียนน้ำท่วม และการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร 2. การปลูกต้นไม้ล้านต้น 3. การดำเนินการตามนโยบายคืนครูให้นักเรียน 4. การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับ 5. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ 6. ถนนปลอดภัย และทางม้าลายได้มาตรฐาน

● ถอดบทเรียนน้ำท่วมหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ปัญหา

ในส่วนของการถอดบทเรียนน้ำท่วมนั้น พบปัญหาน้ำท่วม ทั้งหมด 627 จุด เป็นปัญหาจากน้ำเหนือ/น้ำทะเลหนุน 120 จุด และปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝน 507 จุด โดยมาตรการชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาประกอบด้วย การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การเรียงกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำล้นจากแนวคลองเข้าท่วมถนน 204 จุด ดำเนินการควบคู่กับโครงการแก้ปัญหาถาวร 288 โครงการ ซึ่งคาดว่าแก้ปัญหาได้โดยประมาณ 307 จุด



ด้านโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ แบ่งเป็น 4 ช่วง ความคืบหน้ามีดังนี้ ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาวประมาณ 581 เมตร ค่าก่อสร้าง 62 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 224 วัน (ดำเนินการแล้วเสร็จ) ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกทม.ถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ถึงถนนสรงประภา ความยาวประมาณ 5,000 เมตร ค่าก่อสร้าง 675 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (ดำเนินการปี 65-66) ผลงาน 2.60% ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภา ถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาวประมาณ 10,000 เมตร ค่าก่อสร้าง 1,300 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือน (ดำเนินการปี 65-67) ผลงาน 6.90% ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาวประมาณ 10,700 เมตร ค่าก่อสร้าง 1,406 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 26 เดือน (ดำเนินการปี 63-66) ผลงาน 26% (ข้อมูล ณ 11 มี.ค. 66)



นอกจากนี้ที่ประชุมได้รายงานแผนการขุดลอกคลองสายหลักเพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝน จำนวน 6 คลอง ได้แก่ คลองพระโขนง: ช่วงถนนสุขุมวิทถึงคลองหนองบอน ความยาว 7,800 ม. ระดับขุดลอก -4.50 ม.รทก. เริ่มขุดลอก 1 เม.ย. 66 คาดแล้วเสร็จ พ.ค. 66 คลองประเวศน์บุรีรมย์: ช่วงคลองหนองบอนถึงคลองตาพุก ความยาว 6,283 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. ระดับอยู่ในเกณฑ์ ช่วงคลองตาพุกถึงสุดเขตกทม. ความยาว 16,962 ม. ระดับขุดลอก -2.50 ม.รทก. ระดับอยู่ในเกณฑ์ คลองบานเขน: ช่วงคลองบางบัวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 11,000 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. อยู่ระหว่างขุดลอก ได้ผลงาน 5% คาดแล้วเสร็จ พ.ค. 66 ช่วงบริเวณใต้สะพานถนนประชาชื่น ความยาว 100 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. อยู่ระหว่างของบประมาณ (ดาดท้องคลองใต้สะพาน) คลองลาดพร้าว: ช่วงคลองแสนแสบถึงคลองบางเขน ความยาว 12,000 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. ขุดเปิดทางน้ำแล้วเสร็จ ช่วงคลองบางเขนถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ความยาว 10,000 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. ขุดเปิดทางน้ำ 1 เม.ย. 66 คาดแล้วเสร็จ พ.ค. 66 คลองบางซื่อ: ช่วงคลองลาดพร้าวถึงถนนรัชดาภิเษก ความยาว 1,500 ม. ระดับขุดลอก -2.00 ม.รทก. ขุดเปิดทางน้ำแล้วเสร็จ ช่วงถนนรัชดาภิเษกถึงถนนวิภาวดีรังสิต ความยาว 1,400 ม. ระดับขุดลอก -2.50 ม.รทก. ขุดลอกคลองแล้วเสร็จ ช่วงถนนวิภาวดีรังสิตถึงทางรถไฟสายเหนือ ความยาว 2,600 ม. ระดับขุดลอก -2.50 ม.รทก. ขุดลอกคลองแล้วเสร็จ ช่วงทางรถไฟสายเหนือถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 2,300 ม. ระดับขุดลอก -2.50 ม.รทก. ระดับอยู่ในเกณฑ์ และคลองเปรมประชากร: ช่วงคลองผดุงกรุงเกษมถึงประตูระบายน้ำสรรพาวุธ ความยาว 4,500 ม. ระดับขุดลอก -2.00 ม.รทก. ระดับอยู่ในเกณฑ์ ช่วง SCG ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 5,300 ม. ระดับขุดลอก -3.00 ม.รทก. อยู่ระหว่างขุดลอก ได้ผลงาน 5% คาดแล้วเสร็จ พ.ค. 66 ช่วงถนนเทศบาลสงเคราะห์ถึงสุดเขตกทม. ความยาว 13,000 ม. ระดับขุดลอก -3.50 ม.รทก. อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อน (ขุดลอกไปพร้อมกับการก่อสร้างเขื่อน)



ในการนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอ ติดตามตรวจสอบระบบการระบายน้ำโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ให้ประสานพื้นที่หรือหน่วยงานเกี่ยวข้องในเรื่องของการระบายน้ำล่วงหน้า ไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง และให้เพิ่มเติมคลองบางนาในแผนการขุดลอกสายหลัก

● เพิ่มการปลูกไม้ยืนต้น มีการติดตามและอัพเดทข้อมูลต้นไม้ที่ปลูกต่อเนื่อง

ด้านความคืบหน้าโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ปัจจุบันมียอดจองปลูก 1,641,310 ต้น ดำเนินการปลูกจริงแล้ว 307,355 ต้น (ข้อมูล ณ 13 มี.ค. 66 เวลา 10.30 น.) โดยแบ่งเป้าหมาย 1 ล้านต้นไว้ดังนี้ ไม้ยืนต้น 70% ไม้พุ่ม 20% ไม้เลื้อย 10% ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ที่ 30.6% แบ่งเป็นไม้ยืนต้น 6.9% ไม้พุ่ม 16.7% ไม้เลื้อย 7% ในส่วนของการติดตามต้นไม้ที่ปลูกในสวนสาธารณะในความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จำนวนต้นไม้ที่ปลูกแล้วทั้งหมด 39,647 ต้น มีจำนวนที่รอด 35,885 ต้น คิดเป็น 90.51% โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจะจัดหาและปลูกทดแทนต้นที่ตายต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้เพิ่มจำนวนไม้ยืนต้น โดยเป้าหมายใน 1 ปี ต้องได้อย่างน้อย 1 ใน 4 ของเป้าหมายทั้งหมด (1 ล้านต้น) พร้อมให้มีการติดตามต้นไม้ที่ปลูกแล้วและอัปเดตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามเอกชนที่จองปลูกไว้ จัดหาพื้นที่ ต้นกล้าต่าง ๆ และเดินหน้าปลูกอย่างต่อเนื่อง

● คืนครูให้นักเรียน ทำการสอนเต็มที่ ลดงานธุรการ จ้างบุคคลภายนอกปฏิบัติงาน

ในส่วนของการดำเนินการตามนโยบายคืนครูให้นักเรียน ได้มีการดำเนินการดังนี้ 1. จัดทำโครงการจ้างเหมาบริการเป็นรายบุคคล ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานในโรงเรียน ตามกรอบอัตรากำลังที่สำนักงาน ก.ก. กำหนดไว้ 371 อัตรา อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติจัดสรรงบ เป้าหมายคือให้สำนักงานเขตจ้างระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 ก.ย. 66 2. ลดภาระงานเอกสารของครู โดยเฉพาะเอกสารด้านการจัดซื้อจัดจ้าง โดยสำนักการศึกษาได้ทดลองนำเรื่องการเบิกจ่ายค่าอาหารมาศึกษาก่อน ผลคือลดจำนวนเอกสารได้จำนวนมาก และจะนำมาจัดทำแนวทางการปฏิบัติต่อไป พร้อมเตรียมขยายผลลดเอกสารเรื่องอื่น ๆ ในอนาคต 3. การสำรวจความต้องการ และการจัดทำ/จัดสรรบ้านพักครู จากผลการสำรวจความต้องการสวัสดิการที่พักอาศัยพบว่าต้องการ 5,961 ราย ไม่ต้องการ 3,240 ราย โดยความสามารถการผ่อนชำระการซื้อที่พักอาศัยต่อเดือน อันดับหนึ่ง 3,000 – 6,000 บาท อันดับสอง 6,001 – 10,000 บาท อันดับสาม 10,001 บาทขึ้นไป 4. การปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะครู ได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์ฯ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการข้าราชการครูที่ไม่ผ่านการประเมินให้มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป และมีการให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้องด้วย ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักการศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครเดินหน้าตามนโยบายต่อไป




● เร่งแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดับพร้อมเปลี่ยนเป็นหลอด LED แนะผู้บริหารลงพื้นที่ช่วยดูความคืบหน้าของงาน

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขไฟฟ้าแสงสว่างที่ดับในพื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 12 มีนาคม 2566 ไฟฟ้าทั้งหมด 20,402 ดวง แก้ไขแล้ว 17,465 ดวง ยังคงดับ 2,937 ดวง แบ่งเป็น ความรับผิดชอบของสำนักการโยธา 9,049 ดวง แก้ไขแล้ว 8,837 ดวง ยังคงดับ 212 ดวง สำนักงานเขต 11,353 ดวง แก้ไขแล้ว 8,628 ดวง ยังคงดับ 2,725 ดวง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้สำนักการโยธาและสำนักงานเขตเร่งดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็ว หากสำนักการโยธาดำเนินการในส่วนที่รับผิดชอบอยู่เสร็จแล้วให้ช่วยสำนักงานเขตดำเนินการด้วย พร้อมทั้งให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ออกตรวจพื้นที่ในเวลากลางคืนด้วยจะได้เห็นว่าการแก้ไขเรื่องไฟฟ้าส่องสว่างเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อเจอไฟฟ้าส่องสว่างดับจะได้แจ้งให้ดำเนินการแก้ไขได้ทันท่วงที ส่วนโครงการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการติดตั้งได้ช่วงต้นเมษายน 2566 และจะทยอยเร่งดำเนินการให้ครบทุกจุด

● เน้นตรวจรถควันดำตามสถานที่ต่าง ๆ แทนถนนป้องกันรถติด และศึกษาแนวทางเก็บค่าผ่านทางรถควันดำเกินมาตรฐาน

สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 วันนี้ (13 มี.ค. 2566) เวลา 07.00 น. ตรวจวัดได้ 31-50 มคก./ลบ.ม. โดยมีค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 39.6 มคก./ลบ.ม. ภาพรวมค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกสถานีที่มีการตรวจวัด ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจรถควันดำหากพบเกินมาตรฐานมีการออกคำสั่งให้หยุดใช้รถจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐาน ออกประกาศมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟใหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กใน กทม. เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และแจ้งแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

นอกจากนี้ได้ดำเนินมาตรการป้องกัน ได้แก่ แจกหน้ากากอนามัย แจกเครื่องฟอกอากาศในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ และออกหน่วยบริหารสาธารณสุขเคลื่อนที่ เป็นต้น พร้อมทั้งมีช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนรับทราบใน 7 ช่องทาง ได้แก่ 1. LINE ALERT 2. เฟซบุ๊ก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และเฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร 3. แอปพลิเคชัน AirBkk 4. เว็บไซต์: www.airbkk.com และ www.pr-bangkok.com 5. Traffy Fondue 6. DISPLAY BOARD 7. SMS โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเน้นการตรวจรถควันดำตามตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น อู่รถ ไซต์ก่อสร้าง และแพล้นท์ปูน แทนการตรวจตามถนนเพราะจะทำให้รถติด และเวลาตั้งจุดตรวจตามถนน ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ รถส่วนใหญ่จะไม่ค่อยจอด รวมถึงให้มีดูว่ามีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดเก็บค่าผ่านเข้าเมืองสำหรับรถดีเซลเก่าที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานที่กำหนดได้บ้าง และรายงานสภาพอากาศตามป้ายบิลบอร์ดต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบันแบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจและทราบว่าการเผาสิ่งสำคัญในการสร้างฝุ่น PM2.5 ให้ประชาชนร่วมมือหยุดการเผา พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาให้ได้ผลมากขึ้น และดูว่าการนำฟางไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ผลหรือไม่ อย่างไร

● เดินหน้าแก้ไขจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยให้คนเดินถนนและข้ามทางม้าลาย

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำชับให้สำนักการจราจรและขนส่งเร่งดำเนินการในเรื่องถนนปลอดภัย แก้ไขจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และทางม้าลายให้ได้มาตรฐานให้เรียบร้อยโดยเร็ว เช่น ติดตั้งอุปกรณ์/ป้าย/เครื่องหมายจราจร ตรวจสอบ/ติดตั้ง/ปรับปรุงไฟส่องสว่าง กวดขันวินัยจราจร ตรวจสอบ/ปรับปรุง/ติดตั้ง/เปิดใช้งานสัญญาณไฟจราจร จัดระบบจราจรปรับปรุง/แก้ไขกายภาพ เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้าในการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ จำนวน 100 จุด ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 12 จุด (12%) อยู่ระหว่างดำเนินการ 79 จุด (79%) และรอดำเนินการ 9 จุด (9%)

ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนปี 2565 เสียชีวิตทั้งประเทศ 14,846 ราย พื้นที่กรุงเทพฯ เสียชีวิต 865 ราย บาดเจ็บทั้งประเทศ 856,009 ราย พื้นที่กรุงเทพฯ 117,933 ราย ข้อมูลอุบัติเหตุ (เสียชีวิต) ที่เกิดกับคนเดินถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินถนน/ข้ามถนนคิดเป็น 9%ของจำนวนผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดเหตุขณะกำลังเดิน/วิ่งข้ามถนน ส่วนใหญ่เกิดเหตุบนถนนที่มีมากกว่า 4 เลน และส่วนใหญ่เกิดเหตุช่วงเย็นหลัง 18.00-06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สายตาของผู้ขับขี่มีขีดจำกัดในการมองเห็น และหากจุดที่ข้ามถนนมีแสงสว่างน้อยก็ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย โดยเกิดเหตุมากที่สุดคือวันศุกร์ 21% วันจันทร์ 19% วันอาทิตย์ 18% ซึ่ง 3 ลำดับแรกคือ เกิดเหตุในกลุ่มเขตกรุงธนใต้ 23% กรุงเทพตะวันออก 22% กรุงเทพใต้ 19%


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น