เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของแผนงานและงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง (โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ) (ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - 2570 วงเงินทั้งสิ้น 7,718.94 ล้านบาท) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง (โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ) ซึ่งคณะกรรมการ พอช. ในการประชุมครั้งที่ 8/2565 ได้เห็นชอบด้วยแล้ว เพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติให้กับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางใน 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย ฐานะยากจน และไม่มีเงินออม ประกอบกับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ขณะเดียวกันถูกไล่รื้อหรือต้องรื้อย้าย เพื่อเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้างระบบราง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวหรือเช่าบ้าน/หอพักระหว่างการรอปลูกสร้างบ้านถาวร
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ เป็นโครงการระยะ 5 ปี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมีการทำสัญญาเช่าระยะยาวในที่ดินเดิมหรือที่ดินใหม่กับเจ้าของที่ดิน (เช่น รฟท. กรมธนารักษ์ เอกชน) หรือการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชนใหม่นอกพื้นที่ชุมชนเดิม ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย ได้แก่ การก่อสร้างในที่ดินเดิม ที่ดินใหม่ และในลักษณะอื่น เช่น การเช่าซื้ออาคารในโครงการที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้วทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ความสามารถในการจ่าย การจัดการของชุมชน และการยอมรับร่วมกันในท้องถิ่น อีกทั้งมีการพัฒนาชุมชนด้านเศรษฐกิจและสังคม
นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า และที่สำคัญ รัฐบาลได้ให้การอุดหนุนงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ สำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบ โดย 1) สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค อุดหนุนที่อยู่อาศัยเฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท 2) สนับสนุนผู้ได้รับผลกระทบเฉลี่ยครัวเรือนละ 80,000 บาท เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการที่อยู่อาศัยชั่วคราวหรือเช่าบ้านหอพักระหว่างการรอปลูกสร้างบ้านถาวร การรื้อถอน และการขนย้าย และ 3) งบประมาณเพื่อสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซื้อที่ดินใหม่พร้อมสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เฉลี่ยไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยฯ ไม่เพียงช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาชุมชนแออัดและชุมชนบุกรุก โดยปรับเปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกที่ดินของรัฐเป็นสถานะผู้อยู่อาศัยในชุมชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงสิทธิสวัสดิการและบริการต่าง ๆ ของภาครัฐ อีกทั้งช่วยแก้ปัญหาความยากจนในชุมชนที่มีระบบการออมทรัพย์และจัดการเงิน และระบบสวัสดิการในการดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการสร้างสินทรัพย์เป็นทุนในการประกอบอาชีพ อาทิ การเปิดร้านค้า และการขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น อีกด้วย #ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น