เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 เวลา 09.30 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะความรู้ : มาตรฐานหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น จำนวน 18 ชั่วโมง ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 158 คน ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2566 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมตระหนักถึงสังคมสูงอายุในปัจจุบัน และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ก่อให้เกิดความสามารถในการนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอด องค์ความรู้ฯ ให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ภายในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และเตรียมความพร้อมรองรับการแก้ไขปัญหาจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุขต่อไป
นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุประจำปี 2565 ผู้สูงอายุไทยมีจำนวน 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.03 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมรองรับกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีความเฉพาะและหลากหลายแตกต่างกัน เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของการพัฒนาสังคมและทุนของมนุษย์ในทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงได้มีการขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างผู้ดูแลผู้สูงอายุ อย่างมีมาตรฐาน ซึ่งมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการอบรมเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจในการเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนอย่างมีคุณภาพและผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายกลไกความร่วมมือของอาสาสมัครในระดับพื้นที่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผนึกกำลังของการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
การอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะได้รับทักษะและความรู้หลากหลายมิติ อาทิ ความรู้ทั่วไปของผู้สูงอายุ ทักษะพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โรคที่พบบ่อยและกลุ่มอาการของผู้สูงอายุ อาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงจิตวิทยาการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุและผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็น การเสริมสร้างทักษะกระบวนการต่าง ๆ ในการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ อย่างครบถ้วนทุกมิติให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น