สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 8 ก.พ.66 มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 193,850 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,701,477,166 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี 49,051 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership: PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ 'ภัยคุกคามไซเบอร์' เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 นั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ ในฐานะของผู้นำธุรกิจภาคเอกชน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมสร้างความตื่นรู้ให้สังคมไทยในครั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ
โดยเครือฯ ได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ในแม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ ซึ่งความหลากหลายทางธุรกิจฯ ของเครือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา “จุดกระแส On Stage” ดำเนินรายการโดย คุณกรรชัย กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ คุณมยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, คุณภาณุพงศ์ หอมวันทา ยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time, ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกง Call Center และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอพออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างสรรพากร โดยมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และจากที่เคยตกอยู่ในสถานะของเหยื่อมาแล้วนั้น ทำให้มั่นใจมากว่า ถ้ารู้ทันกลโกงก่อนจะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา และหวังว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงกลโกงผ่านช่องทางที่หลากหลาย จะเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้
ผบ.ตร. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นนโยบายเร่งด่วน ตร. ในการบังคับใช้กฎหมายปราบปรามและแสวงหาความร่วมมือทุกภาคส่วนในการร่วมป้องกันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน ที่เป็นสุจริตชน และเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การจับมือร่วมกันของตำรวจและภาคเอกชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งพิธีการ ดารา นักแสดงใน ครั้งนี้ จะสร้างภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประชาชน หวังว่าการร่วมมือนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีความรู้ มีภูมิคุ้มกันทางวัคซีน ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ทำให้คดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีลดลง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th โดยมี 18 กลโกงหลักของมิจฉาชีพ ที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์ คือ 1) หลอกขายสินค้าออนไลน์ 2) หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ 3) เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) 4) ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) 5) หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ 6) หลอกให้รักแล้วลงทุน 7) หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หรือยืมเงิน 8) ปลอมหรือแฮคบัญชีไลน์ เฟซบุ๊ค แล้วหลอกยืมเงิน 9) แชร์ลูกโซ่ 10) การพนันออนไลน์ 11) หลอกให้โหลดโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล เพื่อขโมยข้อมูล 12) ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน 13) ฉ้อโกงรูปแบบอื่น โดยหลอกลวงด้วยเรื่องราวต่าง ๆ 14) โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ 15) หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย เพื่อข่มขู่เรียกเงิน16) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) และร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน 17) ข่าวปลอม 18) เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์
หากพบเจอเหตุการณ์น่าสงสัยที่อาจเกิดจากกลลวงของมิจฉาชีพ อย่ารีบหลงเชื่อดำเนินการใดๆ ตามที่ได้รับข้อมูล สามารถโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ โทร 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น