สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสี่นักกิจกรรมโดยทันที และยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ให้การประกันว่า นักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ รวมทั้งได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ ทั้งยังกระตุ้นให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 10 มีนาคม 2566
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ระหว่างการปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งมีการตั้งข้อหาประชาชนหลายร้อยคน ทางการไทยได้สั่งเพิกถอนประกันนักกิจกรรมรุ่นใหม่สองคนเมื่อเดือนมกราคม 2566 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่ากังวลต่อชีวิตและสุขภาพของนักกิจกรรมหญิงอีกสองคนที่อยู่ระหว่างการอดอาหารประท้วง และปฏิเสธที่จะรับของเหลวตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2566 หลังจากที่ทางการได้ควบคุมตัวพวกเขาและบุคคลอื่นโดยพลการ ซึ่งทั้งหมดตกเป็นเป้าหมายการดำเนินคดีอาญาเนื่องจากการใช้สิทธิของตนโดยสงบ
นับตั้งแต่สี่นักกิจกรรมถูกควบคุมตัวโดยพลการ จากการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการประกันตัวที่เข้มงวด ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การชุมนุมโดยสงบ และการแสดงออก นำโดยใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และเก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ที่ถูกสั่งเพิกถอนประกันจากการชุมนุมประท้วงโดยสงบในระหว่างการประชุมเอเปกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ในขณะที่โสภณถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยระหว่างการชุมนุมเมื่อปี 2565 รวมทั้งถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นประมาท
ด้านตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และเเบม อรวรรณ ภู่พงษ์ ซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในที่สาธารณะของตะวัน ได้เริ่มการอดอาหารและน้ำตั้งแต่วันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการควบคุมตัวดังกล่าวจนส่งผลกระทบต่อชีวิตและร่างกายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อประกันว่านักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ รวมทั้งหลักการของการเก็บข้อมูลเป็นความลับ การตัดสินใจด้วยตนเอง และการให้ความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว”
แอมเนสตี้ ระบุเพิ่มว่า ตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย กำหนดให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างมีประสิทธิภาพ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการเคยให้ความเห็นไว้ว่า ในทางปฏิบัติทางการไทยยังคงใช้การดำเนินคดีและการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้ต้องสงสัยในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนสากล
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีอาญาต่อนักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิของตนโดยสงบ และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อประกันว่า นักกิจกรรมที่อดอาหารประท้วงจะได้รับการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ รวมทั้งได้รับการดูแลสุขภาพที่สอดคล้องตามจริยธรรมทางการแพทย์ ทั้งยังเรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ
ลงชื่อรณรงค์ได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/take-action/ua26/
ปฏิบัติการด่วน (ภาษาอังกฤษ) ดูได้ที่นี่ https://www.amnesty.org/en/documents/ASA39/6389/2023/en/
วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ปฏิบัติการด่วน: Amnesty เรียกร้องให้ปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
Author Details
สื่อมวลชนหัวใจยุติธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น